18 พฤษภาคม 2565
23,064

กัลฟ์ จับมือ ไบแนนท์ จัดตั้ง “กัลฟ์ไบแนนท์” ลุยตลาดคริปโตในไทย

กัลฟ์ จับมือ ไบแนนท์ จัดตั้ง “กัลฟ์ไบแนนท์” ลุยตลาดคริปโตในไทย
Highlight

ตลาดคริปโทเคอเรนซีในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผลสำรวจว่าเมื่อ 17 พ.ค.65 ว่า จำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2563 หรือจาก 170,000 คนเป็น 2.5 ล้านคน โดยมี Bitkub Online เป็นเจ้าตลาด ครองส่วนแบ่งการซื้อขายกว่า 90% แต่หลังจากที่ GULF ประกาศ จับมือ Binance ผู้ประกอบการตลาดซื้อขายคริปโทรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมมาลุยตลาดไทยในเร็วๆ นี้ น่าติดตามว่าเจ้าใหญ่ในประเทศอย่าง Bitkub จะเสียแชมป์หรือไม่ ค่าคอมมิสชั่นจะถูกลง และมีลูกเล่นอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง


GULF จับมือ Binance Capital Management ตั้งบริษัทร่วมทุน “กัลฟ์ ไบแนนซ์ ”ธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด (Gulf Innova) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ได้ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Agreement) กับBinance Capital Management Co., Ltd. (Binance Capital Management) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องนั้น

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ได้มีการจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ Gulf Innovaและ Binance Capital Management ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ เป็นที่เรียบร้อย โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท 

ทั้งนี้ Gulf Binance จะดำเนินการขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และใบอนุญาตอื่นๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

GULF เปิดประตูโลกดิจิทัล ผนึกเบอร์ 1 เอ็กเชนจ์สินทรัพย์ดิจิทัลโลก “ไบแนนซ์” เดินหน้าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย วางเป้าขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รับเปิดโอกาสขยายธุรกิจไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัลด้านอื่นๆ ด้านนักวิเคราะห์มองบวกเชื่อมีดีลเพิ่มเติมอีก

นางสาวยุพาพิน กล่าวว่าบริษัทเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากการที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และจะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น โดยความร่วมมือกับ ไบแนนซ์ ดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี บล็อกเชนของประเทศ จากการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาตอบสนองความต้องการดังกล่าว

20220518-a-01.jpg

Binance ครอง #1 ของตลาดคริปโตโลก พร้อมลงสนามในไทย

บริษัทเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งจากทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญในการพัฒนาและบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศ โดยมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน ในขณะที่ ไบแนนซ์ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

รวมถึง ไบแนนซ์ ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการเติบโตที่เร็วที่สุดในประวัติการณ์และมีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท ในการขยายธุรกิจและความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัท สามารถขยายธุรกิจไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัลด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวยุพินกล่าว

นักวิเคราะห์เชื่อว่าธุรกิจดิจิทัล แอสเซท เป็นเมกะเทรนด์ GULF ได้ประโยชน์

ด้านนายมงคล  พ่วงเภตรา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ GULF ได้ร่วมมือกับกลุ่ม ไบแนนซ์ ในการรุกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล  นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะผลักดันการเติบโตได้เนื่องจาก ไบแนนซ์ นับเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลขนาดใหญ่ และมองว่าในอนาคต GULF ยังคงเดินหน้าในการเติบโตจากธุรกิจเมกะเทรนด์ได้อีก

20220518-a-02.jpg

รู้จักไบแนนซ์

สำหรับ ไบแนนซ์ (Binance) เป็นกระดานแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามปริมาณการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2560 โดยชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ฉางเผิง เจ้า ปัจจุบันจดทะเบียนที่หมู่เกาะเคย์แมน

ฉางเผิง เจ้า เป็นโปรแกรมเมอร์พัฒนากระดานซื้อขายหลักทรัพย์ และเขาได้พัฒนาไบแนนซ์ โดยเริ่มต้นจากการที่จดทะเบียนในประเทศจีน แต่ภายหลังได้ย้ายออกจากประเทศเนื่องจากการเข้มงวดของรัฐบาลจีน

บริษัทไบแนนซ์ได้มีการพัฒนาโทเคนคริปโทเตอร์เรนซีของตัวเอง 2 โทเคน คือ ไบแนนซ์ (Binance - BNB) เมื่อมิถุนายน 2560  ทำงานบนบล็อกเชนชื่อไบแนนซ์สมาร์ตเชน (Binance Smart Chain - BSC), และไบแนนซ์ยูเอสดี (BUSD) ที่เป็นสเตเบิลคอยน์ ที่ยึดราคาตามสกุลเงินดอลลาร์ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนภายในกระดานแลกเปลี่ยนของไบแนนซ์

ทั้งนี้ ไบแนนซ์ ได้พยายามเข้ามาดำเนินการธุรกิจในไทย แต่ช่วงปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ไบแนนซ์ ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งทาง ไบแนนซ์ พร้อมประกาศพร้อมให้ความร่วมมือกับทางการไทย และที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบของทางการอย่างเคร่งครัด

คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ digital asset exchange อีกหลายรายอยู่ระหว่างเตรียมการขอใบอนุญาตทำธุรกิจในไทย 

หลังจากไบแนนซ์ (Binance) เป็นกระดานเทรดที่มีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีเหรียญที่ลิสต์ในกระดานให้เลือกเทรดมาก อีกทั้งมีค่าธรรมเนียมเทรดต่ำ และมีความหลากหลายการลงทุนให้เลือกมากกว่าจะบุกตลาดไทย โดยร่วมกับยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและไฟฟ้าอย่าง GULF

ในขณะที่ในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ Exchange รายใหญ่ระดับโลกอย่างน้อยอีก 2 แห่ง ที่เข้ามาเจรจากับสถาบันการเงินในไทย เพื่อร่วมลงทุนจัดตั้ง กระดานเทรดคริปโท เช่น Coinbase และ FTX

Coinbase เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ดำเนินการแพลทฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ดำเนินการจากระยะไกลโดยไม่มีสำนักงานใหญ่อย่างเป็นทางการ ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยไบรอัน อาร์มสตรอง และเฟรด เออห์แซม ในปี 2564 Coinbase เป็นบริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เมื่อพิจารณาในแง่ปริมาณการซื้อขาย และเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ปี2564 Coinbase เข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในดัชนีแนสแด็ก ผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยตรง 

ขณะที่ FTX เว็บเทรดอนุพันธ์คริปโตที่เปิดตัวเมื่อปี 2562 ก่อตั้งโดย“แซม แบงแมนฟรายด์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Alameda Research บริษัทจัดการสินทรัพย์ในการลงทุนคริปโทฯชั้นนำของโลก ซึ่งบริหารทรัพย์สินมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ 

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าวว่า คาดว่าจะมีรายใหญ่จากต่างประเทศ 3-4 ราย สนใจมาทำธุรกิจในไทย เพราะเห็นศักยภาพและโอกาสการเติบโตในไทยทั้งการจับมือกับผู้ประกอบการเพื่อเข้ามาบุกตลาด 

รวมถึงการเจาะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย โดยใช้แพลตฟอร์มหรือใช้ชื่อเสียง การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศมาเจาะตลาดไทยโดยมีผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศหลายรายมาหารือกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งรวมถึงกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีฟินโนเวต เพื่อให้ช่วยทำระบบชำระเงินหลังบ้าน เช่น การเปิดบัญชี การชำระเงินสกุลเงินบาท

ทั้งนี้การมีแพลทฟอร์มเทรดรายใหม่เข้ามาเพิ่มนับเป็นเรื่องดี นอกจากไบแนนซ์แล้วยังมีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่หลายรายสนใจมาทำตลาดคริปโทฯในไทยเพราะเห็นจำนวนคนเทรดและวอลุ่มเทรดในไทยติดอันดับต้นของโลก

นายแซม กล่าวว่า โมเดลธุรกิจที่ต่างชาติมาแข่งขันส่วนใหญ่เข้ามาทำเอง แต่หากทำไม่ได้จะจับมือหาพันธมิตรในไทยแต่สุดท้ายตลาดนี้จะเหลือแต่ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น NFT ,ยูทิลิตี้โทเคน หรือ เทรดคริปโทฯ ซึ่งหากเป็นตลาดเทรดคริปโทฯ มาชนกันจะเหลือผู้เล่นไม่กี่รายส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแยกออกทำเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเทรดยูทิลิตี้โทเคน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่แข่งขันกับเจ้าใหญ่ที่เทรดคริปโทฯ

20220518-a-03.jpg

การแข่งขันช่วยให้ตลาดเติบโตเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ

นายแซม กล่าวว่าตลาดคริปโทฯ ในไทยเติบโตได้อีกมากเพราะมีคนที่ยังไม่เทรดอีกมาก และคนไทยลงทุนในสินทรัพย์ปกติมาก ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทฯ มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนทั้งระบบโดยเฉพาะตลาดคริปโทฯ ตอนนี้ เป็นลักษณะเป็นตลาดหมี(ซบเซา)อยู่ซึ่งราคาเหรียญปรับตัวลดลง ทำให้การเข้าลงทุนยังไม่ได้ทุ่มสุดตัว จนกว่าตลาดนี้จะมีความแข็งแรงมากขึ้น

หลังจากนี้หากแข่งขันเพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคเพราะมีทางเลือกมากขึ้นและทำให้ค่าธรรมเนียมเทรดถูกลง มีผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และสินทรัพย์ดิจิทัลหลากหลายขึ้น โดยต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

Bitkub Online ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าใหญ่สุดในไทย โดยมี
มูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันหนึ่ง หรือกว่า 90% และอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน หรือ Due Diligence กับกลุ่ม SCBx ที่ได้เปิดเผยว่าจะเข้าซื้อหุ้นใน Bitkub Online 51% หรือว่า 1.78 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยประเมินมูลค่าทรัพย์สินได้ยืดเวลาออกไป หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดกฎระเบียบการเข้าลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์และบริษัทในเครือใหม่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

Bitkub และ SCBx จะเจอคู่แข่งที่สำคัญในอนาคตอันใกล้ คือ Binance ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโทอันดับหนึ่งของโลกและมีพันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่า GULF ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้เล่นรายใหม่ระดับโลกจะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาด Bitkub ไปได้มากน้อยเพียงใด 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีนักเทรดคริปโทชาวไทยจำนวนมากที่เปิดบัญชีซื้อขายกับ Binance  ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนที่มากกว่า Bitkub ก็เป็นได้ 

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนบล.เคทีบีเอสที (KTBST) กล่าวว่า การแข่งขันแพลทฟอร์มเทรดคริปโทฯ แยกเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1. ทำหน้าที่เป็นกระดานเทรดคริปโทฯในตลาดปกติ ทำให้ค่าธรรมเนียมถูกลงเป็นประโยชน์นักลงทุน

2. เป็นกระดานเทรดคริปโทฯของตัวเอง ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรองรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนธุรกิจในเครือ ให้อีโคซิสเต็มส์ตัวเองสมบูรณ์และมีแวลูขึ้น

ดังนั้นการควบรวมไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะแยกกันแข่งขัน ยกเว้นการแข่งขันรูปแบบแรกจะเกิดการควบรวมขึ้นได้ กรณีแข่งขันไปแล้วตายหรือต้องหนีตาย ยังต้องรอติดตามต่อไป เพราะกัลฟ์จับมือกับไบแนนซ์ น่าจะเข้ามาแข่งขันในรูปแบบที่ 2 มากกว่า

โดยการแข่งขันรูปแบบที่ 2 ระหว่างกัลฟ์จับมือไบแนนซ์ และบิทคับจับมือกับเอสซีบีเอกซ์ ถือว่าสูสีและมีจุดแข็งต่างกันคนละตลาดอีกทั้งมีกลุ่มเจมาร์ทที่มีเหรียญ JFIN ใช้ในกลุ่มธุรกิจตัวเองซึ่งต้องดูว่าใครจะพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ตัวเองได้สมบูรณ์ที่สุด เพราะอนาคตตลาด คริปโทฯ ในไทยมีโอกาสเติบโตมาก เช่น หากนำยูทิลิตี้โทเคนไปซื้อสินค้าและบริการในเมตาเวิร์ส เมื่อได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลไทยในอนาคตจะสร้างมูลค่ามหาศาล

“เอสซีบีเอกซ์เก่งด้านไฟแนนซ์ ขณะที่กัลฟ์เก่งด้านอื่นไม่แพ้กัน ขณะที่ไบแนนซ์มีความสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็มส์บนแพลตฟอร์มและเป็นเจ้าตลาดรายใหญ่ แต่เข้ามาในไทย อยู่บนฐานภาษีเดียวกันบิทคับ ทำให้สิ่งที่ไบแนนซ์เคยได้เปรียบอาจลดลงได้ ขณะที่บิทคับเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักและมีแฟนคลับเหนียวแน่น การมาชิงมาร์เก็ตแชร์อาจไม่ง่าย” นายมงคลกล่าว

สงครามหั่นราคาค่าคอมอาจเกิดเร็วขึ้น

นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดคริปโทเคอเรนซีในไทย นับว่าเป็น “ตลาด Red Ocean” อยู่แล้ว และเมื่อมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาทำให้การแข่งขันยิ่งรุนแรงขึ้น 

ทั้งนี้ตลาดคริปโทฯ ในไทยไม่ใหญ่มากและมีโอกาสเติบโตทำให้มีผู้เล่นหลายราย การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามในตลาดที่มีการแข่งขัน มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะสุดท้ายจะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนผู้ลงทุนในไทย ทำให้มีแพลตฟอร์มเทรดหลากหลาย สามารถเลือกใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่ถูกจริตและตอบโจทย์ความต้องมากที่สุด 

อีกทั้งผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยต้องถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้ไม่ได้มีใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบมาก โดยฟีเจอร์ต่างๆ ไม่หนีกัน 

ดังนั้นรูปแบบการแข่งขันหนีไม่พ้นลดค่าธรรมเนียม จนถึงฟรีค่าธรรมเนียม และสร้างความแตกต่างด้วยสิทธิประโยชน์เพื่อรักษาฐานลูกค้าและปริมาณซื้อขายไว้

“แต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นจุดแข็งและบริการต่างกัน โดยลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกเทรดบนแพลตฟอร์มไหน และใช้บริการหลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องเทรดนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง”

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จำนวน 7 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกอบด้วย

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) 7 ราย

1. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)
2. บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro)
3. บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (Huobi)(คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีคำสั่งระงับให้บริการและเพิกถอนใบอนุญาต)
4. บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX)
5. บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
6. บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)
7. บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX)

นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย

1. บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH)
2. บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza)
3. บริษัท ซาโตชิ จำกัด (KULAP)
4. บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)
5. บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
6. บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX)

อ้างอิง : ก.ล.ต., bangkokbiznews,thunhoon

ติดต่อโฆษณา!