02 มิถุนายน 2565
1,897

เปิดกลยุทธ์การลงทุนเดือนมิ.ย. โบรกเกอร์แนะปรับพอร์ตรับมือเงินเฟ้อ

เปิดกลยุทธ์การลงทุนเดือนมิ.ย. โบรกเกอร์แนะปรับพอร์ตรับมือเงินเฟ้อ
Highlight

การลงทุนเดินทางมาถึงช่วงกลางปี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนยังไม่เปลี่ยนไปจากปลายปีก่อนนัก นั่นคือเรื่องเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ในเดือนนี้สหรัฐจะเริ่มลดวงเงินงบดุล และจะขึ้นดอกเบี้ยตามที่พูดไว้ ซึ่งต้องติดตามผลการประชุม FOMC กลางเดือนนี้อีกทีจะขึ้นเท่าไหร่ สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยในช่วงภาวะการลงทุนที่ผันผวน นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบน้อยจากปัจจัยดอกเบี้ย หรือย้ายเงินไปพักในกองทุนรวมตราสารเงินระยะสั้นชั่วคราวก่อน


สภาวะการลงทุนในหุ้นเดือนมิถุนายน ยังคงผันผวนตามตลาดโลก โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น จากการที่ธนาคารสหรัฐเตรียมปรับขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อีกทั้งยังมีการปรับลดงบดุลด้วยการลดวงเงินเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือ Quantitative Tightening (QT) ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง 

ด้านภาวะสงครามในยูเครนและรัสเซียยังคงอยู่ ในขณะที่ยุโรปเริ่มลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง โบรกเกอร์คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,580-1,673 จุด แนะปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนเพื่อรับมือเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) คาดการณ์หุ้นไทยเดือนมิถุนายน อยู่ในกรอบ 1,620-1,665 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชียพลัส การลงทุนเดือนมิถุนายนนี้ยังคงผันผวน และนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์และลงทุนด้วยความระมัดระวัง  

ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ  0.50% อีกทั้งเริ่มปรับลดงบดุล (QT) ครั้งแรก จึงคาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index น่าจะอยู่ที่แนวรับระดับ 1,620 จุด และแนวต้านที่ระดับ 1,665 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ แนะนำนักลงทุนปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม โดยเน้นถือหุ้นประมาณ 80% และถือเงินสดไว้ราว 10-20% 

หุ้นที่น่าสนใจและมีความโดดเด่นคือกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง, กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ธนาคารพาณิชย์  ท่องเที่ยว และ หุ้นโรงพยาบาล

หุ้นรายตัวที่แนะนำ ได้แก่ KBANK,SCB,STEC,MINT,BDMS และ BH

ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียนฯ แนะถือหุ้น 50% และเงินสด 50% โดยประเมินกรอบดัชนี SET Index ที่แนวต้าน 1,660 จุด และแนวรับที่ระดับ 1,640 จุด

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดว่าตลาดน่าจะยืนในแดนบวกได้ในช่วงครึ่งเดือนแรก เนื่องจากนักลงทุนได้ซึมซับปัจจัยลบไปล่วงหน้าแล้ว และมีเงินสดเหลือเพื่อรอซื้อช่วงตลาด correction จึงคาดว่าจะมีโอกาสเห็นนักลงทุนเริ่มกลับมาซื้อหุ้นบางกลุ่มใหม่โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปรับลดลงมาแล้วและเป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติ

อย่างไรก็ตามในระหว่างกลางเดือน มีวาระสำคัญที่ต้องติดตาม ระหว่างวันที่  14-15 มิถุนายน 2565 ซึ่ง Fed จะมีการประชุมเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงต้องติดตามว่าผลการประชุมที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการลงทุน

“เรายังคงแนะนำการลงทุนโดยการถือเงินสด 50% และอีก 50% ลงทุนในหุ้น ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นที่น่าลงทุนหลายตัวราคาลดลงมาค่อนข้างมากโดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เพราะจะมีโอกาสกลับมาดีขึ้น” นายกิจพณกล่าว 

บล.ยูโอบี เคย์ เฮียน แนะนำหุ้น ในช่วงเดือนมิถุนายนที่น่าสนใจได้แก่ MAJOR,
MAKRO, CPF, OR, BFIT, HANA และ SCGP

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะกระจายพอร์ตหุ้น-ตราสารหนี้-เงินสด-ทองคำ

ทางค่ายโบรกเกอร์ญี่ปุ่น มองสภาพตลาดผันผวนเช่นเดียวกัน เพราะความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาโดยประเมินกรอบแนวต้านไว้ที่ระดับ 1,660-1,673 จุด และแนวรับที่ระดับ 1,580-1,600 จุด 

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นรายตัวที่เติบโตสูงหรือรอจังหวะและทยอยเข้าซื้อในช่วงตลาดปรับฐาน กระจายพอร์ตการลงทุนออกเป็นสัดส่วน โดยลงทุนในหุ้นประมาณ 55%, ตราสารหนี้ 20%, เงินสด 10-15% และทองคำ 5-10%

หุ้นที่แนะนำคือ SAPPE,ASIAN,GFPT, และ JMT 

บล.ทิสโก้ แนะปรับพอร์ต ถือหุ้น 60% เงินสด 40% 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ มีความเห็นในทางเดียวกันว่า ยังคงต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังอยู่ หลังจากยังมีแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดสภาพคล่องของ Fed ซึ่งจะทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติยังผันผวนอยู่

โดยประเมินแนวต้านไว้ที่ระดับ 1,650-1,670 จุด และแนวรับที่ระดับ 1,600-1,620 จุด เท่านั้น

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง,กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากการส่งออก และกลุ่มที่คาดว่างบในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะออกมาดี แนะคงพอร์ตการลงทุนเป็นสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 60% และถือเงินสดไว้ราว 40%

บลจ.กรุงศรี แนะคนรับความเสี่ยงต่ำหลบภัยเข้ากองทุน Money Market 

นายฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า จากการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาสินโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับปัญหาการขาดแคลนอุปทานทั้งในด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และแรงงาน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไป

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะถึงแม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกออกมาติดลบ แต่ก็มีสาเหตุหลักมาจากการระบาดของโอมิครอน และตัวเลขขาดดุลการค้าและบริการสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการที่ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม ท่ามกลางการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง 

นักลงทุนจึงกังวลว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฟดอาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในบางการประชุมในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ Fed มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% สู่ 0.75 - 1.00% ตามคาด พร้อมทั้งประกาศเริ่มลดขนาดงบดุลในเดือนมิถุนายนนี้  

โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป และคณะกรรมการยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อย่างจริงจัง พร้อมทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงจากผลของฐานสูงในปีที่แล้ว

ผลการประชุม Fed นี้บ่งชี้ว่า Fed ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวมากเท่าที่ตลาดคาด เนื่องจาก Fed ได้ส่งสัญญาณให้ตลาดลดความคาดหวังเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% และการปรับลดงบดุลเป็นเพียงการปล่อยให้ตราสารครบอายุโดยไม่ซื้อเพิ่ม และไม่มีการพูดถึงการขายตราสารที่ Fed ถืออยู่ออกมา  

อย่างไรก็ดี Fed ก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในอนาคต  โดยล่าสุดตลาดคาดว่า Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนพฤศจิกายนหลังจากขึ้นดอกเบี้ย 0.50% อย่างต่อเนื่องในการประชุมก่อนหน้านั้น

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เช่นกัน ถึงแม้ ธปท. ระบุว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้ของไทยส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้เช่นกัน

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ในช่วงนี้อาจจะต้องย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนตลาดเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อรอให้ตลาดตราสารหนี้ปรับตัว จึงค่อยกลับมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าในระยะยาว

บลจ.กรุงศรี แนะนำลงทุนในกองทุน KFCASH-A  KFSMART

ติดต่อโฆษณา!