05 มิถุนายน 2565
1,208

ศูนย์วิจัยกสิกรคาด กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% จับตา Q4/65 มีลุ้นปรับขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรคาด กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% จับตา Q4/65 มีลุ้นปรับขึ้น
Highlight

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เราอาจจำเป็นที่ต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้กำลังซื้อ และการขยายตัวของภาคธุรกิจ แต่ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐกดดันให้ดอกเบี้ยให้ปรับขึ้นอย่างเร็วและแรง จนทำให้เกิดช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างระหว่างดอกเบี้ยต่างประเทศและดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้ประเทศที่ไม่ปรับดอกเบี้ยตามต้องเผชิญกับเงินทุนไหลออก ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่า ธปท.จะปรับดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 1-2 ครั้ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการประชุม กนง. 8 มิถุนายน 65 คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี กนง. คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า ซึ่งยังมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/2565

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว ในขณะที่ต้องเผชิญปัจจัยกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้กนง.มีแนวโน้มที่จะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และพิจารณาคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมที่จะถึงนี้ 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอลงจากปีก่อนหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากในช่วงก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ซึ่งจะไปบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีความเปราะบางอยู่แต่เดิมจากผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การส่งออกในระยะข้างหน้าเผชิญความท้าทายมากขึ้น 

ขณะที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยน้อยกว่าที่ควร โดยในไตรมาส 2/2565 มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ ดังนั้น กนง. น่าจะยังคงพิจารณาคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 0.50 ในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ในขณะที่ แม้ว่ากนง. จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามค่าเงินในภูมิภาค 

อย่างไรก็ดียังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่กนง. จะต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ ท่ามกลางเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ดังนั้น คาดว่ากนง. คงพิจารณาตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นรอบๆ การประชุมไป โดยในรอบการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้จะยังไม่พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ดี หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด และหากแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังไม่ทุเลาลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กนง. ก็อาจจะพิจาณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้มีความเหมาะสมได้ โดยอาจจะดำเนินการปรับขึ้นครั้งละร้อยละ 0.25 จำนวน 1-2 ครั้งในช่วงปลายปี โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ท่ามกลางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะมีทิศทางชะลอลง แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการส่งสัญญาณของเฟดที่ยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก ดังนั้น คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนมิ.ย. และก.ค. ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ 

ขณะที่ เฟดอาจมีการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ณ สิ้นปีนี้ จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.00-2.25

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ชะลอตัวลง เฟดคงต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ประเมิน

ประเทศที่มีการดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับเฟดเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเซีย สิงคโปร์และมาเลเซียได้มีการเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินตามสหรัฐฯ ไปแล้ว

โดยสิงคโปร์ได้มีการคุมเข้มนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน (Policy Band) ขณะที่ มาเลเซียได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นประเทศแรกในอาเซียน โดยธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.25มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา 

หาก กนง. ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยและประเทศอื่นๆ นั้นกว้างขึ้น ส่งผลให้ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้กนง. อาจจำเป็นต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.75-1.00 ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวของเฟดและเงินเฟ้อไทยที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง 

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้กนง. อาจให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลงได้ 

อย่างไรก็ดี คาดว่ากนง. อาจยังไม่รีบส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้และเลือกที่จะพิจารณาตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นรอบๆ การประชุมไป

ทั้งนี้ ในการประชุมกนง. ครั้งนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งมีความเป็นได้ที่กนง. จะมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยจากทิศทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศที่มีแนวโน้มดีกว่าที่ประเมิน ในขณะที่มุมมองต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.9 อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง

ติดต่อโฆษณา!