07 มิถุนายน 2565
1,406

คาดเงินทุนไหลเข้าไทยชะลอตัว หลังเงินเฟ้อสูงกว่า 7%

คาดเงินทุนไหลเข้าไทยชะลอตัว หลังเงินเฟ้อสูงกว่า 7%
Highlight

จากการที่เงินเฟ้อไทยเพิ่มพรวดจาก 4.7% ในเดือนเม.ย. เป็น 7.1% ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นงานยากของธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดการควบคุมเงินเฟ้อโดยที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็น่ากังวลว่า อาจจะแก้ปัญหาช้าไปหรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (8 มิ.ย.)มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงน่าติดตามว่าจะ กนง.จะมีมติอย่างไร ด้านนักวิเคราะห์คาดว่าเงินทุนอาจชะลอเข้าไทย หลังไหลเข้าตลาดหุ้นมาต่อเนื่อง 5 เดือน


ฝ่ายวิจัย บล. กรุงศรี คาด Fund flow ต่างชาติจะชะลอตัว กดดันทิศทางลงทุนหลังเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น ไปกลบข่าวดีที่จีนผ่อนคลายควบคุมโควิดในกรุงปักกิ่ง และราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง แต่ตลาดยังมีความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย  โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับมาเด้งแรงเกิน 3% อีกครั้ง   แรงกดดันเงินเฟ้อไทยสูงสุดในรอบ 13 ปี  

นอกจากนี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)พรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) ส่งสัญญาณการดูแลเงินเฟ้ออย่างไร 
 
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไม่สดใสนัก เนื่องจากความกังวลที่ Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (US Bond yield 10 ปี)  พุ่งขึ้นเหนือ 3% และ Fund flow ต่างชาติที่ชะลอจะกดดันต่อทิศทางการลงทุน  จึงยังคงแนะนำรอซื้อช่วงอ่อนตัวแบบ Selective buy 
 
กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy แนะนำหุ้น PTTEP TOP IVL SPRC BCP BANPU ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่น และราคาถ่านหิน ทรงตัวระดับสูง และ AOT MINT CENTEL BDMS BH BEM BTS CPALL CPN CRC AMATA อานิสงส์การเปิดประเทศ ส่วนหุ้น TU ASIAN GFPT KCE HANA ในกลุ่มส่งออก ได้อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า

20220607-a-01.jpg

เงินเฟ้อพุ่ง สูงสุดในรอบ 13 ปี คือ ความท้าทายต่อนโยบายและเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้วิเคราะห์สถานการณ์เงินเฟ้อในไทยที่เร่งตัวขึ้นว่า 
ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทยเร่งตัวขึ้นไปถึง 7.1% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี และเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในเดือนก่อน ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสด และพลังงานออก) ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.3% หลังจากที่อยู่ในระดับต่ำมานานหลายปี

จริงๆเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นอาจจะไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะเดือนก่อนมีเรื่อง base effect จากการปรับการอุดหนุนค่าไฟเมื่อปีที่แล้ว มาทำให้เงินเฟ้อเดือนก่อนต่ำเกินจริงไปประมาณ 1% 

และต้นเหตุสำคัญของเงินเฟ้อยังคงมาจากประเด็นต้นทุนทั้งราคาพลังงาน และอาหาร ที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก

และปัญหาที่ค่าครองชีพปรับขึ้นสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้มากๆ จะเรียกว่าปัญหา stagflation ก็คงจะไม่ผิดนัก

20220607-a-02.jpg

เงินเฟ้อไทยยังไม่ถึงจุดสูงสุด

นายพิพัฒน์มองว่า เงินเฟ้อไทยยังไม่ถึงจุดสูงสุดและน่าจะขยับขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนจากสาเหตุหลายประการ

1. คือราคาน้ำมันขยับขึ้นเพิ่มอีก จากการคว่ำบาตรพลังงานของสหภาพยุโรป และอุปสงค์มีแนวโน้มขยับขึ้นต่ำเนื่องจากการเปิดเมืองของจีนและฤดูการขับรถของสหรัฐ

2. เรายังมีการอุดหนุนราคาอีกหลายเรื่อง ที่จะต้องค่อยๆเอาออก และสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมอีก

เช่น ก่อนหน้านี้ เราพยายามอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร และขยับเพิ่มขึ้นมาที่ 32.9 บาท และกำลังจะขยับเพิ่มขึ้นไปที่ 34 บาทต่อลิตรในไม่ช้า แต่การอุดหนุนนี้มีต้นทุนมหาศาล

“เชื่อไหมครับว่าที่ราคาน้ำมันปัจจุบัน กองทุนน้ำมันอุดหนุนน้ำมันดีเซลอยู่ลิตรละ 8.5 บาท รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตให้อีกลิตรละ 5 บาท แปลว่าตอนนี้ทุกลิตรที่เราใช้น้ำมันดีเซล รัฐเสียรายได้และสร้างหนี้เพิ่ม 13.5 บาท แต่ละวันเรามีการบริโภคน้ำมันดีเซลประมาณ 65 ล้านลิตร แปลว่า ต้นทุนการอุดหนุนวันละแปดร้อยกว่าล้าน เดือนละสองหมื่นกว่าล้าน ถ้าทำไปทั้งปีจะมีต้นทุนกว่าสามแสนล้าน หรือว่าร้อยละสิบของงบประมาณทั้งปี!” นายพิพัฒน์ กล่าว

ซึ่งทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้แน่นอน ตอนนี้กองทุนน้ำมันติดลบไปแล้วกว่าแปดหมื่นล้าน และน่าสนใจว่ารัฐจะอุดหนุนต่ออย่างไร เราคงจะต้องเห็นราคาน้ำมันทยอยขยับขึ้นแน่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั้งทางตรงจากราคาน้ำมัน และทางอ้อมต้นทุนการขนส่งและการประกอบการที่สูงขึ้น

นี่ยังไม่นับแก้สหุงต้มที่กำลังขยับขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นแล้วและจะขยับขึ้นอีกจากต้นทุนพลังงานที่ขยับขึ้น และราคาสินค้าอื่นๆที่รออยู่

3. เงินเฟ้อว่าสูงแล้ว แต่ถ้าเราดูดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งสะท้อนต้นทุน จะพบว่าเงินเฟ้อในฝั่งต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าฝั่งผู้บริโภคเสียอีก แปลว่าผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และยังส่งผ่านไปให้ผู้บริโภคไม่ได้เต็มที่จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังกัดกร่อนกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนพลังงานและอาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

แม้ว่าเราจะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร แต่ประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคพลังงานและอาหารในตะกร้าบริโภคสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออาจจะมีมากกว่า และคนมีรายได้น้อยก็มีการบริโภคอาหารและพลังงานสูงกว่าคนรวย 

ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ความเป็นอยู่ เงินออม ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของคนจำนวนมาก และกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการที่อาจจะต้องลดต้นทุน ลดการลงทุน ลดการจ้างงาน และเริ่มทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นจากแตะเบรกของธนาคารกลางทั่วโลก

20220607-a-03.jpg

เงินเฟ้อจึงเป็น Clear and Present danger ของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

และเป็นความท้าทายสำคัญต่อแบงก์ชาติ ที่มีภาระหนักอึ้ง ในการหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอและมีความเสี่ยง กับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

เพราะเครื่องมือที่แบงก์ชาติมีในการคุมเงินเฟ้อสูงคือการแตะเบรกเศรษฐกิจที่อาจจะสร้างปัญหาอื่นตามมา ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง

แม้เงินเฟ้อมาจากต้นทุน และปัญหาด้านอุปทานเสียส่วนใหญ่ แต่หากทิ้งเอาไว้นานๆ จะทำให้เงินเฟ้อติดลมบน โดยเฉพาะเมื่อการคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และมีสิ่งที่เรียกว่า wage price spiral ที่ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่องไปอีก

และแบงก์ชาติอาจจะเจอปัญหาเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐที่เมื่อปีก่อนพยายามยืนยันว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาชั่วคราว (transitory) ไม่เป็นปัญหานาน (not persistent) และความเสี่ยงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ควรกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป (ยังคงทำ QE ต่อเนื่องจนถึงปลายปีที่แล้ว และเพิ่มจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยไม่นานมานี้)

กว่าจะรู้ตัวก็พบว่าตัวเอง behind the curve หรือขยับช้าไปมาก จนต้องเร่งแตะเบรกหนักกว่าที่ควรในปัจจุบัน เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลากว่าจะเริ่มเห็นผล

เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อธนาคารกลางเป็นอย่างมาก ขยับเร็วก็ไม่ได้ ขยับช้า ก็อาจจะช้าเกินไป

และนี่ยังไม่รวมความท้าทายอื่นๆจากภายนอกที่อาจจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของเราอีก

“สถานการณ์น่าเป็นห่วงจริงๆ” นายพิพัฒน์ กล่าว

ติดต่อโฆษณา!