คาดดอกเบี้ยไทยขึ้นแน่ในครึ่งปีหลัง แนะลงทุนหุ้นท่องเที่ยว ค้าปลีกฝ่าด่านเงินเฟ้อ
Highlight
ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบนี้ยัง‘คง’อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่เสียงแตก 4:3 และส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนหุ้นท่องเที่ยวที่จะเติบโตจากการเปิดเมือง และหุ้นธนาคารที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาเมื่อวันจันทร์ สูงถึง 7.1% น่าจะเป็นระดับที่สูงกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ หรือก่อนหน้านี้ได้ประมาณการณ์ไว้ที่ต่ำเกินไป จึงส่งสัญญาณเตือนการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ผลการประชุม กนง. ในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา แม้ว่าที่ประชุมจะมีมติให้ “คง”ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่ไม่ใด้เป็นมติเอกฉันท์ เสียงแตกด้วยคะแนนสูสี 4 ต่อ 3 เสียง โดยที่ 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมว่าคณะกรรมการ กนง.จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
“จากการประเมินของ กนง. นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 850 บาทต่อเดือน คิดเป็น 3.6% ของรายได้ ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่ชี้ว่าในกรณีที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งน้อยกว่าภาระของเงินเฟ้อ 7-8 เท่า” นายปิติกล่าว
ด้านนักเศรษฐศาสตร์มองว่า กนง.น่าจะประกาศการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า และตลาดเองอาจเดาสถานการณ์ได้จากมติเสียงแตกที่มีถึง 3 ใน 7 เสียง ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กนง.อาจจะเพิ่มดอกเบี้ยได้ 2-3 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวลบ ก็ยังมีปัจจัยบวก โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการณ์ GDP ไทยในปีนี้เพิ่มจาก 3.2% เป็น 3.3% ส่วนเงินเฟ้อปรับเพิ่มเป็น 6.2% จาก 4.9%
ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า หากอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 6.2% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.5% จะทำใ้ห้ผลตอบแทนเงินฝากธนาคารติดลบถึง 5.7% นั่นหมายความว่าหากไม่เปลี่ยนรูปการลงทุน มูลค่าความมั่งคั่งของผู้ฝากเงินติดลบค่อนข้างสูง
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มของ กนง.ได้ส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างชัดเจน จากเสียงโหวต 4:3 สะท้อนจากแถลงการณ์ที่ระบุชัดเจนว่า กังวลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน้อยลง และห่วงเงินเฟ้อมากขึ้น
การส่งสัญญาณที่ชัดเจนของ กนง. ทำให้ EIC มีการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในปีนี้จากเดิมราว 0.5% เป็น 0.75% โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในไตรมาส 3 หนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเงินเฟ้อน่าจะขึ้นไปจุดสูงสุดที่ราว 8%
กนง. อาจเป็นห่วงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และโดยคาดว่าจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ นายสมประวิณกล่าว
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ประเมินว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนสิงหาคม ถ้าเศรษฐกิจยังโตได้ต่อเนื่อง อาจจะปรับอีก 2 ครั้ง ในเดือน กันยายน และพฤศจิกายน จบปลายปีที่ 1-1.25% การประชุครั้งล่าสุดเมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งการคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ขึ้น อีกทั้งกรรมการ กนง.เสียงแตก 4:3 ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของ กนง. มายังตลาดให้เตรียมพร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้น
FETCO เผยนักลงทุนมองหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวเด่นสุดในอีก 3 เดือนข้างหน้า
จากการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ที่ระดับ 83.91 ลดลง 12.1% จากเดือนก่อนหน้า เป็นความเชื่อมั่นที่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO กล่าวว่านักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รองลงมาคือความกังวลต่อสถานการณ์โควิดที่อาจระบาดอีกครั้งหลังรัฐบาลเปิดประเทศ และความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
หมวดธุรกิจที่นักลงทุนมีมุมมองว่าน่าสนใจที่สุด คือหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ขณะที่หมวดที่ไม่น่าสนใจที่สุดคือแฟชั่น (FASHION) และหากพิจารณาความเห็นของนักลงทุนแยกเป็นรายกลุ่ม พบว่านักลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศมีความเชื่อมั่นทรงตัว ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในระดับซบเซา
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ (Geopolitical Crisis) รวมถึงสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ วิกฤตพลังงานซึ่งส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ วิกฤตขาดแคลนอาหารโลก แนวทางการรับมือกับเงินเฟ้อของ Fed รวมถึงติดตามนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน ซึ่งกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมาก
ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มนโยบายการเงินของ ธปท. ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น มาตรการของภาครัฐในการบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายนนี้
หุ้นแบงก์ได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้าน บล.เคทีบีเอสที มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ โดยมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง จึงมองว่ามีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินเบื้องต้นว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขึ้นทุกๆ 0.25% จะมี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารราว 3-4% ซึ่งธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นโดยตรง โดยธนาคารที่ได้ประโยชน์จากมาก-น้อยคือ BBL, KTB, KBANK และ SCB
ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น "มากกว่าตลาด" เพราะ valuation ยังถูก โดยเลือกหุ้น KBANK เป็นหุ้น Top pick ให้ราคาเป้าหมายที่ 190 บาทต่อหุ้น เพราะเป็นธนาคารที่เน้นดิจิทัล และยังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นความชัดเจนได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และสินเชื่อภาคการท่องเที่ยวจะทยอยเห็นการฟื้นตัวได้ดีในครึ่งหลังปีนี้ จากการเริ่มเปิดประเทศเต็มรูปแบบ