10 มิถุนายน 2565
1,843

เตือนเสี่ยงเกิด “วิกฤตการเงิน” ในภูมิภาคเอเชีย หากเงินเยนอ่อนค่าแตะ 150 เยนต่อดอลลาร์

เตือนเสี่ยงเกิด “วิกฤตการเงิน” ในภูมิภาคเอเชีย หากเงินเยนอ่อนค่าแตะ 150 เยนต่อดอลลาร์
Highlight

เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าสู่ระดับ 133 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2545 ต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 วิ่งทะยานขึ้นเหนือระดับ 3% นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินได้หากเงินเยนอ่อนค่าไปแตะที่ 150 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะจีนอาจแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตนเอง


Jim O’Neill นักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินโลก ได้ออกมาเตือนว่า การอ่อนค่าของเงินเยนที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคในระดับความรุนแรงเดียวกับวิกฤตการเงินในปี 1997 โดยเขาเชื่อว่า หากเงินเยนอ่อนค่าไปสู่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ จีนจะเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตัวเอง

“ถ้าเงินเยนยังอ่อนค่าต่อไป จีนจะรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ ซึ่งจีนจะไม่ยอมให้การอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตัวเอง Jim O’Neill อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ในปี 1997 กล่าว

Jim O’Neill ระบุว่า ในช่วงวิกฤตปี 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นฝ่ายเรียกร้องให้จีนไม่ด้อยค่าเงินหยวนลง เนื่องจากกังวลว่าหากเงินหยวนอ่อนค่าจะส่งผลกระทบในค่าเงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าตามลงไปด้วย ซึ่งในครั้งนั้นจีนตัดสินใจที่จะตรึงค่าเงินหยวนเงินเอาไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของภูมิภาค แต่สถานการณ์ในเวลานี้กำลังอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับปี 1997 เพราะจีนกำลังเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เงินเยนอ่อนค่า

อย่างไรก็ดี Jim O’Neill ประเมินว่า การอ่อนค่าของเยนใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว เพราะนับจากต้นปีที่ผ่านมาเงินเยนได้อ่อนค่าไปแล้ว 14% โดยล่าสุดเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 134.56 เยนต่อดอลลาร์ จึงไม่น่าจะอ่อนค่าลงไปได้อีกมากนัก

“ถ้าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังเข้าควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อไป ในขณะที่บอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังปรับเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาได้ แต่ผมไม่คิดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตัดสินใจทำแบบนั้น” Jim O’Neill กล่าว

ย้อนไปในปี  1998 วิกฤตการเงินของเอเชีย เงินเยนเคยอ่อนค่าไปถึง 145 เยนต่อดอลลาร์
 
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนเริ่มอ่อนค่าตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นยังคงตัดสินใจใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับทางสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่เริ่มต้นปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นๆ สูงกว่าญี่ปุ่นมากขึ้น

การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าสูงขึ้นมาก กดดันให้ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า ผู้บริโภคสามารถอดทนได้มากขึ้นต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 
 
ขณะที่ ชูซุเกะ ยามาดะ หัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินญี่ปุ่นของ Bank of America กล่าวว่า ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะทำให้เงินดอลลาร์ไม่แข็งค่าขึ้นต่อในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังคาดว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะยังสูงอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีก 1-2 ปี 

เยนอาจอ่อนค่าไปถึง 150 เยนต่อดอลลาร์
 
เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน (ข้อมูลวันที่ 9 มิถุนายน ) ทำให้โนมูระปรับมุมมองต่อค่าเงินเยนว่าอาจจะยืนสูงกว่า 130 เยนต่อดอลลาร์ นานกว่าที่คิดไว้ โดยคาดว่าเงินเยนน่าจะอยู่ที่ราว 132 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 125 เยนต่อดอลลาร์ 
 
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าเงินเยนมีโอกาสจะอ่อนค่าไปได้ถึง 140-150 เยนต่อดอลลาร์ ด้าน นิโคลาส สมิธ นักกลยุทธ์ของ CLSA ระบุว่า จากการสำรวจความเห็นของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งก่อนหน้านี้ คาดว่าเงินเยนจะอยู่ที่เฉลี่ย 110.05 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้หลายบริษัทอาจจะรายงานกำไรของไตรมาสนี้ออกมาดีกว่าคาด
 
บริษัทค้าปลีกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด สวนทางกับผู้ผลิตยานยนต์ที่เป็นผู้ได้ประโยชน์หลัก
 
จากการเปิดเผยของ Bloomberg ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากนักธุรกิจ 249 ราย พบว่า 74% มองว่าการอ่อนค่าของเงินเยนกำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบต่อกำไรของธุรกิจ ขณะที่อีก 26% มองว่าจะช่วยทำให้กำไรสูงขึ้น 
 
ปัจจัยจากนโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเผชิญตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซายาวนาน จึงมีนโยบายที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่อยมาแต่ผลที่ได้กลับไม่เติบโตตามคาด ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น จึงยังคงตัดสินใจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย มุ่งรักษาให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สวนทางกับสหรัฐที่ขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงได้ประกาศใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดโดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนในการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐปรับเพิ่มสูงขึ้น
 
นโยบายทางการเงินที่สวนทางกันนี้ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้นักลงทุนพร้อมใจกันเทขายเงินเยนของญี่ปุ่น แล้วหันไปลงทุนดอลลาร์สหรัฐที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติในรอบ 20 ปี

นายแซค แพนเดิล นักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มของสกุลเงินเยน แม้ว่าเงินเยนอาจจะร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันข้างหน้าก็ตาม

นายแพนเดิลกล่าวว่า มีสองปัจจัยที่จะทำให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้แก่ การที่เศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางชะลอตัวลง หรือการที่ธนาคารกลางปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหรือเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา โดยปัจจัยหลังนั้นจะเกิดจากการที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นดีดตัวขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง และจากการเปิดประเทศของญี่ปุ่น

“เรามองเห็นโอกาสมากขึ้นที่ญี่ปุ่นจะปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งรวมถึงการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา หรือปรับนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield-curve control) และเราคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงราว 15% – 20% เมื่อเทียบกับเงินเยน” นายแพนเดิลกล่าว

ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนภายใต้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการใช้มาตรการที่สวนทางกันเช่นนี้ทำให้เงินเยนทรุดตัวลง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ นายแพนเดิลคาดว่า ในระยะใกล้นี้ ความเคลื่อนไหวของเงินเยนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นหลายประการ ซึ่งรวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ รวมทั้งการประชุมของเฟดและ BOJ ในสัปดาห์หน้า

กสิกรไทย ชี้เทียบเงินบาทอ่อนกว่าเกือบ 10% แล้ว เผยปัจจุบันเรตอยู่แถว 25 บาทต่อ 100 เยน แจงนักลงทุนกังวลเงินเฟ้อสหรัฐไม่ลดลง

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินเยนญี่ปุ่น ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยน (เรต) อยู่ที่ระดับแถว ๆ 25 บาทต่อ 100 เยนแล้ว ซึ่งยังคงเป็นระดับการอ่อนค่าที่มากที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งมาจากปัจจัยที่ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า เพราะตัวเลขการจ้างงานสหรัฐออกมาดีกว่าคาด

ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ส่งสัญญาณว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ตอนนี้ตลาดกังวล โดยจับตาว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่จะประกาศในวันในวันศุกร์นี้ (10 มิ.ย.) จะไม่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งหากไม่ชะลอ เฟดก็จะยังคงเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ออกมาบอกว่า จะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องด้วย

“ตอนนี้เงินเยนถ้าเทียบดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) อ่อนค่าไปกว่า 13% หรือถ้าเทียบเงินบาท อ่อนค่าไปเกือบ 10% แล้ว” นางสาวกฤติกากล่าว

ผลกระทบจากเงินเยนอ่อนค่าทั้งด้านบวกและด้านลบ

การที่เงินเยนอ่อนค่าถือเป็นผลด้านบวกต่อธุรกิจด้านการส่งออกของญี่ปุ่น ทำให้สามารถแข่งขันได้เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ เนื่องจากเมื่อแปลงค่าเงินกลับมาเป็นเงินเยนจะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น แต่สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศ การที่เงินเยนอ่อนค่าไม่เอื้ออำนวยต่อภาคการส่งออกนัก เพราะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจต้องเผชิญความยากลำบากสำหรับการวางแผนธุรกิจในระยะถัดไป

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบด้านลบในส่วนของการนำเข้า เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และจากสถานการณ์สู้รบในยูเครนทำให้ต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น พอเงินเยนอ่อนค่าลง ก็ยิ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการนำเข้าที่สูงขึ้น

หลังจากนี้ทิศทางการปรับตัวของเงินเยนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีแพลนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ถือว่าเป็นจังหวะดีที่จะตุนเงินเยนแลกเก็บเอาไว้ ในระหว่างที่รอความชัดเจนของนโยบายเรื่องการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างก็คาดหวังอยากให้มีข่าวดีในเร็ววัน

อ้างอิง:
https://www.ft.com/content/94e8da98-f698-4c6a-8401-5e239c007d11?fbclid=IwAR2Jk6-HczfKT1u4JsTstP0kBTeO-kAsXu64e8eGVHTUITnES8FuTAs8A10
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-09/74-of-japanese-executives-say-weak-yen-is-negative-for-economy?sref=CVqPBMVg
The standard, บล.กรุงศรี

ติดต่อโฆษณา!