14 มิถุนายน 2565
1,336

ผวาดอกเบี้ยพุ่ง หุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี

ผวาดอกเบี้ยพุ่ง หุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี
Highlight

นักลงทุนยังคงทิ้งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ผวา Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% เพราะเงินเฟ้อทะยานต่อ Bitcoin และ Ethereum ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขนาดตลาดคริปโทเคอเรนซีลดเกือบ 70% เหลือเพียง1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 7 เดือน ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐร่วงต่อเข้าสู่ภาวะหมี  ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ร่วงไปถึง 32 จุด ติดตามผลประชุม Fed วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้จะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่กันแน่


ตลาดคริปโทร่วงหนัก นักลงทุนตลาดฟิวเจอร์ถูก Force-sell 

ตลาดคริปโทเคอเรนซีถูกถล่มขายหนักที่สุด นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์ถูกบังคับขายหรือที่เรียกว่า “พอร์ตแตก”อย่างต่อเนื่อง ทุกคนจับจ้องไปที่นักลงทุนรายใหญ่อย่างบริษัท Microstrategy ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ที่เคยทยอยเก็บ Bitcoin เข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง และราคาต้นทุนอยู่ที่ $21,000 ต่อ Bitcoin ขณะที่ราคา Bitcoin ก็ร่วงลงมาทะลุจุดนั้นเรียบร้อยแล้ว Panic หนักๆ อาจตามมาอีก และ Microstrategy อาจถูก Forcesell ตลาดคริปโทอาจสะเทือน

จากเว็ปไซต์ coingecko.com ราคา Bitcoin ลดลงต่ำสุดในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ US$21,046.95  และเมื่อเวลา เวลา 12.57 น.ของวันที่ 14 มิ.ย. ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 
US$22,856.68 ลดลง 9.8%จากวันก่อนหน้า และปัจจุบันราคา Bitcoin ลดลง 66.9% จากจุดสูงสุด เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564 หรือต่ำสุดในรอบ 7 เดือน 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก coingecko ระบุว่าขนาดตลาดรวมคริปโตลดฮวบเหลือเพียง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากจุดสูงสุด 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา 

กลับมาที่ตลาดหุ้น ซึ่งความวิตกกังวลของนักลงทุนเห็นได้ชัด โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์ ยังคงลดลงต่อเนื่องในวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ตลาดดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะ "หมี"

โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักในวันจันทร์เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,516.74 จุด ร่วงลง 876.05 จุด หรือ -2.79%
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,749.63 จุด ลดลง 151.23 จุด หรือ -3.88% และ
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,809.23 จุด ดิ่งลง 530.80 จุด หรือ -4.68%

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักระบุ ‘ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี’ ซึ่งรวมถึงบาร์เคลย์ และแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ต่างก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ 

หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%

ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ให้น้ำหนักเพียง 5%

หุ้นเทคถูกเทขายอย่างหนัก ยุโรป-เอเชีย กอดคอกันร่วง

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างก็ร่วงลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ (เฟซบุ๊ก) ดิ่งลง 6.44% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 3.83% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ดิ่งลง 7.24% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 4.29% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 4.24%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงต่อในวันจันทร์ สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 412.52 จุด ร่วงลง 10.19 จุด หรือ -2.41% ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.

  • ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,022.32 จุด ลดลง 164.91 จุด หรือ -2.67%,
  • ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,427.03 จุด ลดลง 334.80 จุด หรือ -2.43% แล
  • ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,205.81 จุด ลดลง 111.71 จุด หรือ -1.53

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง 5 วันติดต่อกันแล้วจากความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดร่วงลงตามทิศทางตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

  • ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,555.75 จุด ร่วงลง 431.69 จุด หรือ -1.60%,
  • ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,783.54 จุด ร่วงลง 284.04 จุด หรือ -1.35% และ
  • ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,224.21 จุด ลดลง 31.34 จุด หรือ -0.96%

ไทยเปิดตลาดหลุด ไป 1,590 จุดก่อนฟื้นกลับมาเล็กน้อย 

ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดร่วง 10 จุด ไปอยู่ที่ราวม1,590 จุด ก่อนที่ค่อยๆ ฟื้นตัวมากรอบแคบๆ ฝ่ายวิจัยบล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวลงตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียและตลาดหุ้นทั่วโลก โดยถูกกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจใช้ยาแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 0.5% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พุ่งเหนือ 3.3% และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ทำให้กดดันต่อภาวะการลงทุน 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับตลาดหุ้นไทยให้แนวรับไว้ที่ 1,570-1,580 จุด และแนวต้าน 1,620 จุดล่าสุดปิดการซื้อขายภาคเช้าดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,601.92 จุด +1.86 จุด ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงเปิดตลาด มูลค่าการซื้อขายรวม 36,325.17 ล้านบาท

เงินบาทร่วงแตะ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14 มิถุนายน) ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน นับจากเดือนมีนาคม 2017

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Fed อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมออกมาสูงกว่าคาด 

ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้กดดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างพากันเทขายสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทค รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Tesla -7.1%, Meta (Facebook) -6.4% และ Amazon -5.5% ทำให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทค Nasdaq ดิ่งลงกว่า -4.68% ส่วนดัชนี S&P 500 ก็ร่วงลง -3.88% 

เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปหุ้นเทคถูกเทขาย เช่น Adyen -8.9% และ ASML -4.4% ทำให้ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปก็ปรับตัวลดลงกว่า -2.41% 

เกิด Invert Yield Curve ในตลาดบอนด์อีกครั้ง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า Fed อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้คาดการณ์ Terminal Rate (จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบาย) ของ Fed นั้นปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% 

ทั้งนี้ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะสั้น โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 2 ปี ได้เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.39% ทำให้ในบางช่วงบอนด์ยีลด์ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือเกิด Inverted Yield Curve อีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาด เนื่องจากในอดีตที่ผ่านภาวะ Inverted Yield Curve ระหว่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี มักเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นไทยได้

ติดต่อโฆษณา!