15 มิถุนายน 2565
1,951

บาทอ่อนค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ใครได้ ใครเสีย

บาทอ่อนค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ใครได้ ใครเสีย
Highlight

ค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปี 3 เดือน ทะลุ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ เรียบร้อยแล้วในวันนี้ (15 มิ.ย.) เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าในรอบ 24 ปี จากการที่ตลาดกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นรุนแรงในคราวเดียว 0.75% ทำให้เงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงกลับในยังตลาดดอลลาร์ในระยะสั้นอีกครั้ง แต่ยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เช่นกลุ่มส่งออก อาหาร เป็นต้น


ค่าเงินบาทเปิดมาเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ระดับ  35.05 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.98 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 5 ปี 3 เดือน 

บทวิจัยจัยจาก Krungthai Global Markets ชี้ว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงซึ่งน่าจะรู้ผลการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในคืนนี้ 

โดยข้อมูลล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ได้ระบุว่า โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.4% และ 94.2% ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้สอดคล้องกับการปรับประมาณการของบรรดานักวิเคราะห์ที่มองว่า เฟดอาจสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้จริง 

อย่างไรก็ดี ในมุมของนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank ระบุว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟด สุดท้ายจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets กล่าวว่าความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังคงกดดันสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทำให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.38% เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ปรับตัวลดลงกว่า -1.26% จากความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่างดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายน จะปรับตัวดีขึ้น สู่ระดับ -28 จุด ก็ตาม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.45% และมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ จนกว่าตลาดจะเห็นความชัดเจนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ จนกว่าตลาดจะเห็นว่า เฟดได้ผ่านจุดที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปแล้ว (Peak Hawkishness)

“ซึ่งเราปรับมุมมองใหม่ว่า ความขัดเจนดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่เคยมองว่า Dot Plot เดือนมิถุนายน อาจสร้างความชัดเจนและเชื่อมั่นให้กับตลาดได้” บทวิจัยระบุ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 105.5 จุด ตามมุมมองของตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 135.3 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น (ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังคงตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ 0.00+/-0.25%) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงสู่ระดับ 1,811 ดอลลาร์ต่อออนซ์  

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (ทราบผลในเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์รวมถึงผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างมองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC เดือนมิถุนายน เฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75% 

นอกจากนี้ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ เฟดสามารถส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งตลาดจะรอจับตาประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference เพื่อจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และที่สำคัญ ตลาดอาจรอฟังการประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวหนัก จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากประธานเฟด หลังจากประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในตลาดการเงินมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนักในวันนี้ จนถึงช่วงรับรู้การประชุมเฟด โดยการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้และการประชุมในเดือนกรกฎาคม ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจ “Sell on Fact” เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หรือ เฟดแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น

ค่าเงินบาททะลุ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาททะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้ฝั่งผู้ประกอบการบางส่วน โดยเฉพาะในฝั่งผู้นำเข้าวิตกกังวลและเร่งเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่าไปสู่ระดับ 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ได้  

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจอยู่ถูกชะลอลงได้บ้าง จากแรงขายของฝั่งผู้ส่งออกบางส่วน รวมถึงการเข้ามาดูแลความผันผวนของค่าเงินจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนมองว่าระดับยีลด์เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นและอาจทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง ซึ่งฟันด์โฟลว์ดังกล่าวก็สามารถชะลอการอ่อนค่าได้เช่นกัน 

“เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านใหม่แถวระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล หรือ ไปทดสอบระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายๆ หากตลาดการเงินไม่ได้เผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ที่รุนแรง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการใช้มาตรการ Lockdown ในวงกว้างของจีน” บทวิเคราะห์ระบุ

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

Krungthai Global Markets มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกรอบเงินบาทอยู่ที่ 34.95-35.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ
 
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 15 มิ.ย.65 อ่อนค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 35.02 (8.35 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงประคองก่อนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในคืนนี้ จากการคาดการณ์ของตลาดบางส่วนที่ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมรอบนี้เพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ยังคงอยู่ในระดับสูง (CPI เพิ่มขึ้น 8.6% ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ขณะที่ PPI อยู่ที่ 10.8% ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.9%)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.95-35.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค.ของจีน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากเฟดสาขานิวยอร์ก

ขณะที่แนวโน้มเงินบาทในครึ่งปีหลังยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจดี และการท่องเที่ยวฟื้นตัว อาจทำให้เงินบาทกลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐประกาศเมื่อสิ้นสัปดาห์ก่อนเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ตลาดหุ้นไทยและพันธบัตรไทยรวมกันแล้วกว่า 2,603 ล้านบาท

หุ้นกลุ่มไหนที่ลงทุนได้

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะที่ 35.03 บาท/ดอลล่าร์ ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วเมื่อปี 2015 ก่อนที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงในเดือน ธ.ค. ของปีนั้น แต่หลังจากนั้น ตลาดหุ้นโลกดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ มีความแตกต่างตรงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯในวันนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า คือ ไม่ถึง 2%

แนะนำลงทุนหุ้น ASIAN (เป้าเชิงกลยุทธ์ 19.00 บาท) “บาทอ่อนหนุนรายได้, วิกฤติอาหารโลกหนุน Sentiment กลุ่มส่งออก”

บาทอ่อนแตะระดับ 35 บาท/ดอลล่าร์ +3.85%YTD (แตะระดับเดียวกับปี 2017) หนุนกำไรโดยประเมินทุก 1 บาท ที่อ่อนค่าอาจมี Upside ต่อกำไรราว 5% และได้ประโยชน์จากวิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นทั่วโลก คาดว่าจะเกิดต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หุ้นในกลุ่มส่งออกและอาหารของไทย อาหารสัตว์และอาหารแช่แข็งมี Demand สูง

บล.คิงส์ฟอร์ด จำกัด ประเมินดัชนี SET คาดเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,590 -1,600 แนวต้าน 1,610 -1,615 และรอประเมินมุมเฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐในระยะถัดไป แนะนำซื้อกลุ่มส่งออกอาหาร เช่น ASIAN, CPF, CFRESH, GFPT, TFG, XO (+ราคาอาหารสูงขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนค่า)

ติดต่อโฆษณา!