หุ้นโรงกลั่นฟื้น หลังออกโรงแจง ข้อเท็จจริง 3 ประเด็นร้อน ราคาน้ำมันตลาดโลกทรุด
Highlight
ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ผลักดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เมื่อรัฐบาลมีแนวคิดในการขอแบ่งกำไรค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น โดยบางส่วนนำไปลดราคาขายปลีกลง จากนั้นกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นและสภาอุตสาหกรรมฯได้ชี้แจงตอบโต้ประเด็นนายกรณ์ จาติกวณิช และเตรียมเจรจาต่อรองรัฐบาล เช้าวันนี้(20 มิ.ย.) หุ้นกลุ่มโรงกลั่นเริ่มฟื้นตัวกลับมา ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มลดลงในรอบ 4 สัปดาห์
ราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นเริ่มฟื้น โดยตลาดคาดว่า กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นอาจเจรจาต่อรองและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อภาครัฐได้ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ชี้แจงประเด็นตอบโต้ที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรกล้า ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ผ่านสื่อสาธารณะมาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565
โดยมีประเด็นหลักที่กล่าวถึงธุรกิจการกลั่นคือ ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่าจาก 0.87-0.88 บาท/ลิตรในเดือนมิถุนายนปี 2563 และ ปี 2564 เพิ่มเป็น 8.56 บาท/ลิตรในเดือนมิถุนายน ปี 2565 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน 3 แนวทาง 1. กำหนดเพดานการกลั่น 2.เก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) 3. จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน
กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และ ส.อ.ท.ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวดังนี้
ประเด็นที่ 1 ข้อมูลที่คุณกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่คุณกรณ์ยกมานั้นไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ(Market GRM)และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบเป็น ข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19(2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆเมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ
หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบพบว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8บาทต่อลิตร อย่างที่กล่าวอ้าง(ตามตารางด้านล่าง)
ประเด็นที่ 2 ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่น ค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น
รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งเช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่นเช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม
ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีประชาชนส่วนมาก ยังมีความเข้าใจผิดเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงขึ้น” กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ได้จัดทำ Infographic เพื่อสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ได้โดยสะดวก(ตามเอกสารแนบ) ในประเด็นต่อไปนี้
1. กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกขณะนั้น
2. ค่าการกลั่นน้ำมันไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นเนื่องจากโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจากนั้นจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษีของโรงกลั่น
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลัง2565 คือ ระดับราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้อีก 0.75% และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกราว 1% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ และน่าจะจบรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครึ่งแรกปี 2566
ราคาน้ำมันลดต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ หลังตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงและกระทบความต้องการใช้น้ำมัน
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน 20 มิถุนายน 2565 ว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ เนื่องจากตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะหดตัวลงและคาดจะส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นกว่า 0.75% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อลดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่สูงทั่วโลก
โดยนับว่าเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากสุดนับตั้งแต่ปี 2537 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่นมากสุดนับตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ
สำหรับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังผู้ผลิตปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่นสู่ระดับ 740 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 63
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย หลังรัสเซียปรับลดปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปต่อเนื่อง ขณะที่ ความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
ทั้งนี้ หากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีการหันมาใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดกังวลอุปทานตึงตัว อย่างไรก็ตาม ราคามีแนวโน้มปรับลดลงหลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์