ก.ล.ต. เชือดซ้ำ Bitkub สั่งแก้ไขเกณฑ์การลิสเหรียญ KUB หลังถูกลงโทษปรับปั่นเหรียญคริปโต สร้างวอลุ่มเทียม
Highlight
ตลาดคริปโตระส่ำหนัก นอกจากเจอพายุโหมกระหน่ำจากปัจจัยภายนอกจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และสภาพคล่องในระบบลดลง มูลค่าตลาดหายไปราว 70% เหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านเหรียญ สถานการณ์ภายในประเทศก็หนักเช่นกัน โดย ก.ล.ต.มีคำสั่งเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ปรับ Bitkub กระดานคริปโตรายใหญ่ที่สุดของไทย และ Stang Corporation พร้อม Blacklist ผู้บริหาร ตกช่วงดึก ก.ล.ต.ลงดาบ Bitkub ซ้ำอีกรอบสั่งแก้ไขเกณฑ์รับเหรียญ KUB หลังตรวจพบว่ามีคุณสมบัติต่ำกว่าเกณฑ์ ล่าสุดราคา KUB ลดลง 10%
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกคำสั่งด่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา สั่ง Bitkub Online ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของไทย ภายใต้การดูแลของ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เจ้าของและ ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร Bitkub Capital Group Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มการซื้อขาย คริปโทเคอเรนซี ในนาม Bitkub Exchange โดย ก.ล.ต. ระบุว่า KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ของ Bitkub Exchange.
ก.ล.ต. เปิดเผยมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามมติบอร์ด ก.ล.ต.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2565 | ฉบับที่ 108 / 2565
โดย คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) สั่งการให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ของ Bitkub ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565
โดยให้ Bitkub ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ KUB โดยให้ BBT แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคของเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และให้ Bitkub แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนต่อ ก.ล.ต. ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคของเหรียญ KUB เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้
สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 Bitkub ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โดย ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการคัดเลือกเหรียญ KUB แล้ว พบว่า Bitkub มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โดย Bitkub ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง
นอกจากนี้ Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ทั้งนี้ สกลกรย์ สระกวี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเครือบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนถือเหรียญ KUB กว่า 4 แสนคน
ราคา KUBcoin ที่ซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์ม Bitkub Exchange ณ วันที่ 1 ก.ค. 65 เวลา 11.00 น.ราคาอยู่ที่ 94 บาท ลดลง 10% จากวันก่อนหน้า หลังจากมีข่าวดังกล่าว
เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ก.ล.ต.ออกแถลงการณ์ต่อสื่อลงโทษทางแพ่งต่อ Bitkub Online และ Stang Corporation กับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีสร้างวอลุ่มเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และอีก 4 ราย ที่สร้างวอลุ่มเทียมใน ศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ปรับทั้ง 2 แห่ง รวมเป็นเงิน 48 ล้านบาท พร้อมสั่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
สำนักงาน ก.ล.ต.รายงานว่า ได้ตรวจสอบพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ในการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ได้แก่ 1.บริษัท Bitkub 2. นายอนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และ 3. นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท Bitkub สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว
บริษัท Bitkub โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC) Bitcoin Cash (BCH) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
การจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 84 – 99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่ร้อยละ 57 – 99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับ และนายสกลกรย์ รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของนายอนุรักษ์
การกระทำของบริษัท Bitkub และนายอนุรักษ์ เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายสกลกรย์ เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบ ในการดำเนินงานของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ดังนี้
1. ให้บริษัท Bitkub ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
2. ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. รวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
3. ให้นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และให้นายสกลกรย์ ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ลงโทษ Stang Pro และผู้บริหาร ในความผิดเดียวกับ Bitkub โดยตรวจสอบพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัทสตางค์ 2. บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro 3. นายปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทสตางค์ และ 4. Mr. Mikalai Zahorski เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ ของบริษัท LLC Fair Expo เป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดดังกล่าว
บริษัทสตางค์ โดยนายปรมินทร์ ได้ทำสัญญากับบริษัท LLC Fair Expo โดย Mr. Mikalai ให้บริษัท LLC Fair Expo ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro และได้ให้วงเงินซื้อขายเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัท LLC Fair Expo ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 3 เหรียญได้แก่ Bitcoin (BTC) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP)
โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 96 – 99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของบัญชีซื้อขายของ Market Maker หรือคิดเป็นร้อยละ 81 – 97 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ Market Maker ได้มีการนำส่งรายงานการซื้อขายในบัญชี Market Maker ให้บริษัทสตางค์รับทราบทุกเดือน
การกระทำของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายปรมินทร์ และ Mr. Mikalai เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย ดังนี้
1. ให้บริษัทสตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท
2. ให้บริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และกำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน
3. ให้นายปรมินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้นายปรมินทร์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทสตางค์อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
4.ให้ Mr. Mikalai ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้ Mr. Mikalai ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท LLC Fair Expo อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด
หากผู้กระทำความผิดทั้ง 2 กรณี ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
Bitkub / สกลกรย์ ออกแถลงการณ์โต้
นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ก่อตั้งบริษัท บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับ 24 ล้านบาท กับผู้กระทำผิด 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ห้ามซื้อขาย 6 เดือน ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร 12 เดือน โดยระบุว่า
“ผมขอชี้แจงกรณี โดน กลต สั่งปรับ และสั่งห้ามเป็นผู้บริหาร 12 เดือน หน่อยนะครับ
การถูกปรับครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 หรือ 2019 กลต เข้ามาตรวจบริษัท Bitkub Online หลังจากได้ License ณ ขณะนั้นมี Exchange 3 เจ้า BX , Bitkub , Satang
ณ ขณะนั้นวงการคริปโตใหม่มาก พึ่งจะได้ License กัน ผมเชื่อว่าการกระทำ การสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ เป็นสิ่งที่ Exchange ทั่วโลก ณ เวลานั้น มีระบบพวกนี้เกือบหมด จึงทำให้มีความผิดพลาด และความไม่เข้าใจกฏเกณอย่างถี่ถ้วน จากทั้ง Bitkub และ Satang (ไม่ขอพาดพิง BX เพราะปิดไปแล้ว)
และเมื่อเราโดน กลตเข้ามาตักเตือน และสั่งหยุด และเราก็ยอมรับ และหยุดการกระทำตั้งแต่ กลต เข้ามา พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบป้องกันการจับคู่กันเองของคำสั่งซื้อขายที่ส่งมาจากบัญชีเดียวกัน และ มีทีม Market Surveillance เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม เช่น การส่งคำสั่งซื้อขายจับคู่กันเองจากหลายบัญชี โดยเร็วที่สุดตั้งแต่นั้นมา
สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเหลือเกินว่า การที่ กลต ได้สั่งปรับ และยกเรื่องนี้เป็นสำคัญ หลังจากผ่านมา 3 ปี มาแล้วนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการกำกับดูแลที่เข้มข้น เข้มงวดขึ้น
ซึ่งผมหวังว่ามาตราฐานที่ดีเช่นนี้ จะเป็นการกระทำที่ไม่เจาะจง เพียง Exchange บางราย แค่ Bitkub หรือ Satang แต่ กลต จะเข้าตรวจสอบทุกเจ้าที่มี License อยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะผมเชื่อว่า เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ผู้ประกอบการท่านอื่นก็จะยินดีให้ทาง กลต เข้าไปตรวจสอบเช่นกันครับ
ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 3 ปี Bitkub ไม่เคยปั้ม Volume trade รายได้ และ ภาษีที่ Bitkub จ่าย เมื่อปีที่แล้วเป็นคำตอบที่ดีที่สุด