05 กรกฎาคม 2565
1,298

เงินเฟ้อไทยเดือน มิ.ย. พุ่ง 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี นักวิเคราะห์ชี้ กดดัน กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รอบหน้า

เงินเฟ้อไทยเดือน มิ.ย. พุ่ง 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี นักวิเคราะห์ชี้ กดดัน กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รอบหน้า
Highlight

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.65 อยู่ที่ 7.66% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ผลกระทบจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.5% และคาดการณ์ทั้งปีที่ 4.5% เท่าเดิม บล.ตรีนิตี้ คาดว่า ธปท.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทันทีในการประชุมรอบหน้า 0.25% แนะลงทุนหุ้น Defensive ที่จ่ายปันผลสูง เพื่อประคองพอร์ตช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว-เงินเฟ้อสูง


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่สูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นดัชนีที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 2.51% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2565 สูงขึ้น 5.61% ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปี 65 ยังคงประมาณการณ์เดิม 4.5%

20220705-a-02.jpg

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 1.40% เมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา และสูงขึ้น 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่อง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานเป็นส่วนใหญ่และยังคงมีราคาสูงขึ้น ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วน 61.83% ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อขยายตัว

ส่วนราคาอาหารส่งผลกระทบไม่มากเพราะมีการปรับขึ้นราคามาตั้งแต่เดือนที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ มาตรการของภาครัฐมีมาตรการลดค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ประกอบกับผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ เงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.46% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 1.18% และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.61% แต่ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบจากทั่วโลก

สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคา 39.45% ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 6.42%

จึงส่งผลให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วน 34.27% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบทั้งหมด

สินค้าอื่น ๆ มีสัดส่วน 3.9% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) และค่าโดยสารสาธารณะ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

20220705-a-01.jpg

ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับลดลง เช่น กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.73% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร เนื่องจากปริมาณผลผลิต มีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชันตามห้างสรรพสินค้า กลุ่มผลไม้สด ลดลง 2.53% อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก กลุ่มการสื่อสาร ลดลง 0.08% อาทิ ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน เศรษฐกิจโลก การส่งออก การท่องเที่ยว รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19

แต่อย่างไรก็ดี สนค. ยังคงประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปีคงตัวเลขเดิม คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 – 5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5)

จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯที่จะออกมาในวันที่ 13 ก.ค.จะกดดันตลาดเงินทั่วโลก

บล.ทรีนีตี้ ชี้เงินเฟ้อ กำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก เดือนก.ค.จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ 13 ก.ค.นี้ ส่วนไทยถ้าพุ่งเกิน 7% กดดัน กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เหตุดอกเบี้ยแท้จริงระหว่างไทยสหรัฐฯ ห่างกันเกินไป ฉุดค่าบาทอ่อน แนะรอเข้าซื้อแนวรับแรก ที่บริเวณดัชนี 1500-1530 จุด
 
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า คาด SET Index ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ในช่วงแรกของไตรมาสที่ 3 จะอยู่ในโหมดแกว่งตัวซึมๆต่อไป 

จากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่น่าจะยังออกมาเติบโตสูงในระยะสั้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆยังคงจำเป็นต้องใช้ความ Aggressive ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป 

ทั้งนี้ เมื่อมาประกอบกับความกังวลใจทางด้านเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯและยุโรป ทำให้เราอาจเริ่มเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น 

“ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เรามองว่าน่าสนใจสำหรับการ Overweight ตลอดทั้งไตรมาส 3 ยังคงได้แก่พันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐฯที่มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปัจจุบันได้มีการ Price in ประเด็นการเข้มงวดนโยบายการเงินของ Fed ไปมากแล้ว” นายณัฐชาติกล่าว
 
ในส่วนของภาพ SET Index นั้น ต้องบอกว่าเป็นดัชนีที่มีค่าความผันผวนต่ำอย่างมากในช่วงหลัง จนทำให้กรอบการแกว่งตัวแคบตามไปด้วย และเป็นตลาดที่มีทิศทางอิงอยู่กับนักลงทุนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ครองสัดส่วนการมีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยไปแล้วถึง 50% ด้วยความสำคัญของ Fund flow ที่ค่อนข้างมากนี้ การอ่านทิศทางของนักลงทุนต่างชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

ซึ่งหากวิเคราะห์ไปกับทิศทางของค่าเงินบาทด้วยแล้วนั้น ประเมินว่าในเดือนก.ค.จะยังไม่เห็น Turning point ของทั้ง 2 ตัวแปรดังกล่าวแต่อย่างใด สอดรับกับรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพ.ค.ล่าสุดที่ออกมาขาดดุลทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ระดับ 3.7 พันล้านเหรียญฯ จนทำให้ล่าสุดบาทกลับมาเป็นสกุลเงินในเอเชียที่อ่อนค่ามากที่สุดอีกครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
 
สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดที่ บล.ตรีนิตี้มองว่า จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนนี้ ก็คือ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯที่จะออกมาในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งจะมีผลกระทบสำคัญต่อไปยังคาดการณ์ดอกเบี้ย Fed ในตลาด และการประชุม FOMC ในวันที่ 26-27 ก.ค.

เงินเฟ้อไทยเกิน 7% คาด ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบถัดไปอย่างแน่นอน

บล.ตรีนิตี้ระบุว่า รายงานเงินเฟ้อของไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หากขยายตัวสูงเกินกว่า 7% จะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแท้จริงระหว่างไทยกับสหรัฐฯถูกทิ้งห่างมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะกระทบกับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าต่อไปได้ และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธปท.จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบถัดไปอย่างแน่นอน
 
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ ยังคงแนะนำใช้การตั้งรับการเข้าซื้อ โดยยังคงมองจุดแนวรับแรกที่บริเวณดัชนี 1500-1530 จุด ส่วนแนวรับสำคัญในไตรมาส 3 มองไปยังบริเวณดัชนี 1460-1500 จุด ซึ่งจะทำให้ภาพ SET Index กลับมามีความน่าสนใจอย่างมากในเชิง Valuation จากทั้งมาตรวัด PBV, PE, และ EYG 

ทั้งนี้ หากต้องถือครองหุ้นในช่วงนี้จริง มองว่าจำเป็นที่จะต้องเน้นไปยังกลุ่ม Defensive ซึ่งสามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Healthcare (BDMS) / Consumer Staples (CPALL) / Utilities (GPSC, RATCH, WHAUP) / ICT (ADVANC) ส่วนกลุ่มอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับการ Selective ได้แก่ กลุ่มบริหารหนี้ (JMT) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (CPF) กลุ่มเปิดเมือง/เปิดประเทศที่ยังคง Laggard (OR) และกลุ่มธนาคารที่ปลอดภัย (BBL)

Top pick เน้นกลุ่มหุ้น Defensive ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว BDMS, CPALL, GPSC, RATCH, WHAUP, ADVANC

ติดต่อโฆษณา!