06 กรกฎาคม 2565
1,301
เงินบาทอ่อนค่าเฉียด 36 บาท/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี น้ำมันดิบร่วงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาเรล หวั่นเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
Highlight
เงินบาทอ่อนค่าเกือบ 36 บาท/ดอลลาร์เป็นระดับอ่อนค่าในรอบ 6 ปี แนวโน้มไปในทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งใน สหรัฐฯ และยุโรป จากราคาพลังงานที่พุ่งสูง รวมทั้งการที่จีนอาจกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์และเยน นักวิเคราะห์มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ เพราะไทยยังไม่ได้ปรับดอกเบี้ย หากอ่อนค่าถึงระดับ 36.4 ก็จะเป็นระดับที่อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (6 ก.ค.) อยู่ที่ 35.99 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิด ตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.83 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่า เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งใน สหรัฐฯ และยุโรป จากราคาพลังงานที่พุ่งสูง ส่งผลให้คนกลับเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์และเยน
“เช้านี้บาทแตะเกือบ 36 บาท/ดอลลาร์ โดยยังเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง หรือช่วงต้นปี 60 โดยคาดว่าวัน นี้คงจะทดสอบระดับที่ 36 บาท/ดอลลาร์” นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.90 – 36.10 บาท/ดอลลาร์
โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย รวมถึงรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. และข้อมูล PMI/ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ และเงินบาทเสี่ยงแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ หากจีน Lockdown อีกครั้ง
เมื่อวานนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสำหรับเดือนมิถุนายนออกมาที่ +7.66% (ปีต่อปี) หรือเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 30 ปีแล้ว
วันนี้ค่าเงินบาทยังคงโดนดันด้วยการที่ US Dollar Index หรือค่าเงินดอลล่าสหรัฐเทียบตะกร้าเงินสกุลอื่นๆทั่วโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 106.5 หรือเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2002
หลังจากที่ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปเมื่อต้นต้นอาทิตย์ก่อน แต่ยังไม่สามารถผ่านแนวรับที่ 35.00 บาทต่อดอลล่าร์ไปได้ ก็ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง จนกลับขึ้นมาทะลุแนวต้านเดิมอีกครั้ง และวันนี้ในที่สุดเงินบาทดีดขึ้นไปแตะที่ 35.99 บาทต่อดอลล่าร์แล้ว และหากค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อจนดีดทะลุ 36.4 บาทต่อดอลล่าร์ไปได้ (หรืออ่อนค่าไปอีกเพียง 1%) ก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปีทันที เพราะครั้งล่าสุดที่เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่า 36.4 บาทต่อดอลล่าร์ก็คือเมื่อปี 2006
โดยอีกเหตุผลหลักที่อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเช่นนี้ก็เป็นเพราะนโยบายการเงินของไทยที่ยังคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ทำให้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศสหรัฐที่ทาง FED ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนขึ้นไปที่ระดับ 1.75% แล้ว (และยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง) จนอาจเป็นเหตุที่ทำให้เงินไหลออกจากประเทศได้
ตลาดการเงินผันผวนหนัก ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรป อาจชะลอตัวหนักเข้าสู่สภาวะถดถอย ค่าเงินบาทอ่อนแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์แข็ง และเสี่ยงทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ หากจีน Lockdown อีกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 35.85-36.05 บาท/ดอลลาร์
ตลาดกังวลเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
พูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย หลังจากที่ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากฝั่งยุโรป อย่าง ดัชนี PMI ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้น ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงหนักกว่า -10%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นนักลงทุนก็พากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.11% นำโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ อย่าง กลุ่มพลังงาน BP -7.0%, Total Energies -6.4% และกลุ่มการเงิน Santander -3.2%, HSBC -3.0%
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงไปกว่า -2.0% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้น จนปิดตลาดที่ +0.16% หนุนโดยแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet (Google) +4.2%, Amazon +3.6% ซึ่งแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Innovation (ARK Innovation ETF +9.1%) นั้นมาจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน
ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับ 2.82% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ISM Services PMI (รายงานวันนี้), ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงาน (รายงานวันศุกร์นี้) และรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (วันพฤหัสฯ) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
“โดยเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทรงตัวหรือปรับตัวลดลงได้ หากตลาดเชื่อว่า เฟดจะไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและเริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด (Terminal Rate) กลับกัน หากตลาดมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาได้ แต่การปรับตัวขึ้นก็อาจถูกชะลอด้วยแรงซื้อพันธบัตรเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย” นายพูนกล่าว
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 106.5 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่ารุนแรงของ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด สะท้อนภาพการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การแข็งค่าหนักของเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นอุปสรรคที่กดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงก็ตาม โดยล่าสุด ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2021 ทั้งนี้ โซน 1,740-1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับที่สำคัญ ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเข้ามาซื้อทองคำได้ แต่ผลข้างเคียงของโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ แย่กว่าคาด สามารถส่งผลต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดมองว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงสะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมิถุนายนที่จะลดลงสู่ระดับ 54 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง John Williams รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (รับรู้รายงานในช่วงเช้าตรู่วันพฤหัสฯ) ซึ่งเฟดได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อประเมิน ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด โดยเฉพาะมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ นั้นหลักๆ แล้วมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงการอ่อนค่าลงหนักของสกุลเงินฝั่งยุโรป จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย ทำให้เรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลภาพเศรษฐกิจถดถอยอยู่ เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสได้แรงหนุนต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่าลงได้
ทั้งนี้ จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ยังมีอยู่ หากทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยก็เริ่มเจอการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจยิ่งกดดันค่าเงินบาท ผ่านแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงเทขายหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและธีมการเปิดเมือง (Reopening Theme)
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้ อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน
นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์ไว้พอสมควรแล้ว ทำให้ภาพ Panic Buy เงินดอลลาร์จากผู้นำเข้าอาจไม่ได้เกิดขึ้น และมองว่าผู้นำเข้าอาจรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทกลับมาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์, นายพูนกล่าว
ราคาน้ำมันดิบร่วงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง 10% ในวันที่ 5 ก.ค.จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ซึ่งหากเดืดขึ้นจริงการลงทุนและเศรษฐกิจจะหดตัวมาก ราคาน้ำมันจะปรับลดลง
Bond Yield หรือผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐของสหรัฐที่จะเป็น Leading Indicator ที่บอกได้ว่า นักลงทุนกำลังกลัว "ค่าเงินเฟ้อ" หรือ "Recession" มากกว่ากัน
อย่างไรก็ตามพบว่า bond yield ได้ปรับลดลง 12 basis point หรือวัดเป็น -4.2% นับเป็นระดับ Bond Yield ที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน ซึ่งแสดงถึงความกังวลเรื่อง Recession มากกว่าที่จะทำให้ Fed หยุดการขึ้นดอกเบี้ยอีกด้วย สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ก็ได้ทำสถิติต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาที่ 99 และ 103 เหรียญต่อบาร์เรลตามลำดับ ซึ่งลดลงราว 10%
Citibank เตือนว่าราคาน้ำมันดิบอาจลดลงเหลือ 65 เหรียญได้ หรือลดลงกว่าครึ่งภายในสิ้นปีนี้ หากเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงๆ และหากเป็น Recession ที่ยืดเยื้อราคาน้ำมันก็อาจจะเฉลี่ยอยู่ที่ 55 เหรียญได้ในปีหน้า