22 กรกฎาคม 2565
1,231

มอนิ่งสตาร์เผย Q2/65 ผลตอบแทนกองทุนหุ้นโลกร่วง 28.6% เงินไหลเข้าน้อยสุดในรอบ 2 ปี

มอนิ่งสตาร์เผย Q2/65 ผลตอบแทนกองทุนหุ้นโลกร่วง 28.6% เงินไหลเข้าน้อยสุดในรอบ 2 ปี
Highlight

มอนิ่งสตาร์(ไทยแลนด์) เผยความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในไตรมาสที่ 2/65 ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าเงิน ราคาพลังงาน ยังคงกดดันภาวะการลงทุนในหุ้นโลกไม่สดใส โดยเฉพาะหุ้นเติบโตสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ผลตอบแทนติดลบมากถึง 37% และผลตอบแทนหุ้นโลกติดลบราว 28% ในขณะที่เงินเริ่มไหลเข้าหุ้นจีน ผลตอบแทนเริ่มเป็นบวกจากการคลายล็อก รวมทั้งหุ้นเวียดนาม ความกลัวทำให้นักลงทุนพักเงินในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นหรือ Money Market Fund เพิ่มขึ้น

20220722-a-01.jpg

มอนิ่งสตาร์ ไทยแลนด์ เปิดเผยผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาติดลบไปค่อนข้างมาก โดย Morningstar Global Markets Index รอบ 6 เดือน ปรับตัวลง 20.2% ทางด้านกองทุนหุ้นทั่วโลกหรือ Global equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 23.4% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่เกือบ 1.7 แสนล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือนอยู่ที่ -28.6%

และแม้จะยังมีเงินไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่องแต่เป็นมูลค่าที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 1.1 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2565 ซึ่งเป็นยอดไหลเข้าน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมครึ่งปีแรก 1.3 หมื่นล้านบาท

20220722-a-02.jpg

20220722-a-03.jpg

ผลตอบแทนกองทุนหุ้นเทคฯติดลบ 37% ในครึ่งปีแรก รั้งท้ายกลุ่มอุตสาหกรรม 

ในไตรมาสที่แล้วกองทุนกลุ่ม Global Technology เป็นกลุ่มที่อยู่ในอันดับ 5 ของกลุ่มกองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด แต่ด้วยในช่วงปีนี้กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นกลุ่มหุ้นเติบโตมีการปรับตัวลงอย่างมาก

โดย Morningstar Global Technology Index รอบ 6 เดือนอยู่ที่ -30.6% หรือต่ำสุดเมื่อเทียบกับอีก 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ผลตอบแทนจากกองทุน Global Technology เป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในรอบครึ่งปีแรกเช่นกัน โดยอยู่ที่ -37.9% ประกอบกับเริ่มมีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสนี้ 1.7 พันล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 33.2% ไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

กลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามยังคงติดอันดับเงินไหลเข้าสูงสุดในรอบไตรมาสที่ผ่านมา

ในช่วงต้นไตรมาสที่ผ่านมาดัชนี VN Index มีการปรับตัวลงค่อนข้างเร็วทำให้เม็ดเงินลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนามชะลอลงที่ระดับ 6 ร้อยล้านบาท แต่หากมองในแง่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็ยังทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจในระยะยาว ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนเวียดนามมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน รวมเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสนี้ 3.3 พันล้านบาท และรอบครึ่งปี 1 หมื่นล้านบาท

กองทุน BCAP Global Multi Asset เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาสนี้ รวม 1.1 พันล้านบาท ทำให้กองทุนมี Organic growth ที่ 35% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.1 พันล้านบาท และเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของ บลจ. บางกอกแคปปิตอล และเมื่อรวมกับกองทุนอื่นทำให้บลจ.แห่งนี้มีเงินไหลเข้ารวมสูงสุดในไตรมาสที่ผ่านมา 1.6 พันล้านบาท

บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด 2 กองทุนคือ กองทุน SCB US Equity NDQ (Acc) ที่เปิดเมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2021 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาที่ 1.7 พันล้านบาท และอีกกองทุนคือ SCB Vietnam Equity ที่เปิดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าเพิ่มให้กองทุนมีมูลค่าสูงขึ้นไปที่ระดับพันล้านบาท ซึ่งกองทุนเวียดนามเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอีกครั้งในเดือนมิถุนายนหลังจากที่ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ผ่านมา

กองทุน TMB Global Income เป็นกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุดต่อเนื่องอีกหนึ่งไตรมาสด้วยมูลค่า 1.2 พันล้านบาท คิดเป็น Organic growth -8.7% ทั้งนี้หลายกองทุนในกลุ่ม Global Bond ก็มีเงินไหลออกสุทธิเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากในช่วงปีนี้กองทุนกลุ่มนี้มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบค่อนข้างมากที่ -9.7%

กองทุน KKP Expanded Tech - Hedge H ที่มีเงินไหลออกมากเป็นอันดับสองที่ระดับ 9 ร้อยล้านบาท แต่ขณะเดียวกันมีเงินไหลเข้าในอีกกองทุนกลุ่มเทคโนโลยีคือ KKP Semiconductor - Hedged กว่า 5 ร้อยล้านบาท

20220722-a-04.jpg
ผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนสูงสุดในกลุ่มตราสารทุน

จากไตรมาสที่แล้วกองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดที่ -15.5% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากลุ่มกองทุนหุ้นจีนเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอุตสาหกรรม จากการเปิดคลายล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนมิถุนายนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาสนับสนุนภาคธุรกิจและการขนส่งที่หุ้นจีนขนาดใหญ่อย่างกลุ่ม internet หรือ e-commerce ได้ประโยชน์ไปด้วย ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง โดยดัชนี CSI 300 มีการฟื้นตัวมาได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ด้านกองทุนหุ้นจีนกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าไตรมาสแรก โดยเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 6.4 พันล้านบาท รวมสะสม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสูงสุดเป็นอันดับที่สอง 1.2 หมื่นล้านบาท

กลุ่มหุ้น internet-Tech ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่ A-shares ติดลบน้อยกว่า

เมื่อไปดูที่การลงทุนของแต่ละกองทุนนั้นจะพบว่ากองทุนที่มีการฟื้นตัวได้สูงสุดในรอบ 3 เดือนคือการลงทุนในกองทุน ETF หุ้นจีน (US Fund China Region) เช่น กองทุน Invesco China Technology (CQQQ), Global X MSCI China Consumer Disc ETF (CHIQ)  กองทุนเหล่านี้ลงทุนกลุ่มหุ้น internet หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่ฟื้นตัวมาได้ค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสเป็นต้นมา ด้านกองทุนหุ้น A-Shares นั้นมักจะมีสัดส่วนในกลุ่มหุ้นอุตสาหกรรม กลุ่มการเงิน หรือกลุ่มการบริโภคเป็นสัดส่วนหลัก แม้จะมีผลตอบแทนรอบ 3 เดือนทีผ่านมาไม่มากนัก แต่ในภาพของผลตอบแทน 1 ปียังติดลบน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ

พักเงินมาทางนี้

ทั้งนี้ กองทุน Money Market เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7 แสนล้านบาท กลุ่ม Equity Large-Cap ยังคงอยู่ในอันดับ 2 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่ระดับต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าเงินไหลออกสูงสุดในประเภทกองทุนตราสารหนี้ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 19.3% จากสิ้นปีที่แล้ว

ที่มา : Morningstar (Thailand)

ติดต่อโฆษณา!