25 กรกฎาคม 2565
1,230

ทำไมประเทศถึงล้มละลาย โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทำไมประเทศถึงล้มละลาย โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Hilight

การ “ล้มละลาย” ของศรีลังกา  เมียนมาร์ และลาว ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นนั้น  ผมคิดว่าเราควรมาทำความเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยการใช้ภาษาของคนธรรมดาที่พอจะเข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์อยู่บ้างดังต่อไปนี้  โดยที่ผมจะเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดาด้วย

เริ่มกันที่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละคนก่อนก็คือ  เราต้องมีรายได้และค่าใช้จ่าย  รายได้นั้นหลักใหญ่ ๆ ก็มาจาก 2 กลุ่มกิจกรรมคือ 1) การขายของ หรือ 2) ขายแรงงานซึ่งก็คือการเป็นลูกจ้างหรือขายบริการ เช่น เป็นฟรีแล้นซ์ต่าง ๆ  ส่วนรายจ่ายก็มี 2 อย่างเช่นกันคือ 1) ซื้อของมากินมาใช้ในชีวิตประจำวัน และ 2) ซื้อบริการ เช่น จ่ายค่าเล่าเรียน ตัดผม  ไปดูหนัง ซื้อทัวร์ไปเที่ยว และซื้อประกัน เป็นต้น

นอกจากรายได้และรายจ่ายที่มาจากการทำงานแล้ว  รายรับและรายจ่ายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการลงทุนซึ่งก็มี 2 แบบใหญ่ ๆ  นั่นก็คือ  1) การลงทุนโดยตรงในธุรกิจ  เช่น  ไปร่วมเป็นหุ้นส่วนกับคนอื่นที่เราต้องจ่ายเงินออกไป  และ 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้นหรือพันธบัตร  และในทั้งสองกรณีก็คือ  มีทั้งการจ่ายเงินออกไปตอนไปลงทุนและการรับเงินเข้ามาเวลาได้รับปันผล รับดอกเบี้ย หรือขายหลักทรัพย์  ถ้ารวมรายได้และรายจ่ายทั้งสองรายการแล้วเป็นบวกก็แสดงว่าเราทำมาหากินเลี้ยงตัวได้ ความเสี่ยงที่จะล้มละลายน่าจะต่ำลง

ในระดับของประเทศเองนั้น  เวลาประเทศ “ขายของ” ให้ประเทศอื่น  เราเรียกว่าการ “ส่งออก”  ส่วนเวลาเราซื้อของมาใช้ก็เรียกว่าการ “นำเข้า” หักกลบกันแล้วเราเรียกว่า  “ดุลการค้า”  ในส่วนของการซื้อ-ขายบริการนั้น  ถ้าหักกลบแล้วเราเรียกว่า  “ดุลบริการ”  และเมื่อเอาสองตัวนี้มารวมกัน  เราก็เรียกว่า  “ดุลบัญชีเดินสะพัด” ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่า  ประเทศเรา “ทำมาหากิน” ได้เงินพอหรือมากกว่าค่าใช้จ่ายหรือเปล่า  ถ้าใช่ก็แปลว่าเราน่าจะมีเงินเหลือเก็บ  เป็น “ทุนสำรอง”  ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะล้มละลายต่ำลง

นอกจากการทำมาหากินแล้ว  การลงทุนทั้งในด้านธุรกิจที่เรียกว่าลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์  เช่น หุ้นและพันธบัตร  ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ทำให้เงินเข้าออกเปลี่ยนแปลงไปและบางครั้งก็อาจจะทำให้คนธรรมดาและประเทศล้มละลายได้เช่นกัน  โดยเฉพาะถ้าเงินถูกนำออกไปมากกว่าเงินไหลเข้ามากในช่วงเวลาหนึ่งและเงินสำรองมีไม่พอ ตัวอย่างเช่น คนหรือประเทศติดหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชดใช้มากกว่าเงินที่สะสมไว้มากและไม่สามารถกู้เงินมาหมุนทัน  ก็จะอยู่ในสภาพ “ล้มละลาย” ทันที

มูลค่าเงินลงทุนส่วนที่ถูกนำเข้ามาในประเทศหักด้วยเงินที่ถูกส่งออกไปนอกประเทศนั้นเรียกว่า “ดุลบัญชีทุน”  และเมื่อนำมาคำนวณรวมกับดุลบัญชีเดินสะพัดในแต่ละปีก็จะเรียกว่า  “ดุลชำระเงิน”  หรือก็คือเม็ดเงินที่เรามีเพิ่มขึ้น (หรือลดลง)ในปีนั้น  ซึ่งก็จะเข้ามารวมกับ  “เงินสำรอง” ของประเทศที่จะเป็นในรูปแบบต่าง ๆ  ที่สำคัญที่สุดก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐและอาจจะเป็นทองคำด้วย  เพราะนี่คือเงินหรือทรัพย์สินใกล้เงินที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

ประเทศไทยในช่วงปี 2535  หรือ 5 ปี ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540  นั้น  เรามีเงินทุนสำรองอยู่ที่ 21.2 พันล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับปริมาณที่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ประมาณ 7 เดือน  ซึ่งก็ถือว่ามีเงินสำรองค่อนข้างมาก  อย่างไรก็ตาม  ตั้งแต่ปี 2535 ประเทศไทยก็  ขาดดุลการค้าคือซื้อสินค้ามากกว่าขายสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงปี 2539  โดยเหตุผลที่ซื้อสินค้ามากกว่าขายสินค้านั้นไม่ใช่เพราะเราผลิตไม่พอในการบริโภค  แต่เป็นเพราะเราผลิตเพิ่มขึ้นเร็วมากโดยที่ GDP โตเฉลี่ยถึงปีละ 7.94% ซึ่งทำให้เราต้องนำเข้าสินค้าที่เป็นเครื่องจักรที่มีราคาแพงมาก   และก็เช่นเดียวกัน  เราต้องซื้อบริการจากต่างประเทศมากกว่าที่ขายบริการมาตลอด  เช่นเรื่องของการขนส่งสินค้า  การประกันภัย  และอื่น ๆ  นั่นทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึงประมาณเกือบ 8% ของ GDP ในปี 2539

ถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คือ เราใช้เงินเกินตัวมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2535 ถึงปี 2539 นั้น เราสามารถอยู่ได้เพราะมีเงินทุนสุทธิที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละประมาณ 15.4 พันล้านดอลลาร์  ซึ่งทำให้ดุลชำระเงินเป็นบวกทุกปี เฉลี่ยปีละ 4.1 พันล้านเหรียญ  ซึ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงจุดสูงสุดในปี 2539 ที่ประมาณ 38.7 พันล้านเหรียญคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าถึง 7.3 เดือน  เรารู้สึกว่าประเทศไม่น่าจะล้มละลายได้ง่าย ว่าที่จริงในช่วงนั้นเราเป็น “ดารา” ของโลก  เป็น “เสือตัวที่ 5 ของเอเซีย”  แต่สิ่งที่เราอาจจะลืมไปก็คือ  เงินที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยในช่วงนั้น  จำนวนมโหฬารเป็น “เงินกู้” สกุลดอลลาร์ที่เรียกว่า  “BIBF” ที่มีดอกเบี้ยต่ำมากและเป็นเงินกู้ระยะสั้นที่เจ้าหนี้สามารถเรียกคืนได้ภายใน 1 ปี

ก็อย่างที่เรารู้หลังจากเหตุเกิดแล้วนั่นก็คือ  พอถึงปี 2540 ประเทศไทยก็แทบจะ “ล้มละลาย” เงินสำรอง 38.7 พันล้านดอลลาร์ที่มีอยู่นั้น  ถูกดึงออกไปโดยเฉพาะเพื่อใช้หนี้จำนวนกว่า 100 พันล้านเหรียญที่เจ้าหนี้เรียกร้องคืนและน่าจะรวมถึงนักลงทุนชาวต่างประเทศในตลาดหุ้นที่รีบขายหุ้นนำเงินออกไปก่อนที่เงินบาทที่ขายหุ้นได้จะมีค่าน้อยลงมาก  เงินสำรองช่วงก่อนที่จะ “ล้มละลาย” ถ้าผมจำไม่ผิดเหลือเพียงประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์  และถ้าไม่ใช่เพราะความช่วยเหลือจาก IMF เราก็คงล้มละลายไปแล้ว

กลับมาสู่วันนี้ในปี 2565 และย้อนหลังไปถึงปี 2560  ฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยดูเหมือนว่าจะแข็งแกร่งมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นช่วงที่ “อ่อนแอ” ที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน  เงินสำรองทางการของไทยอยู่ที่สูงเกือบที่สุดที่ 246 พันล้านเหรียญสามารถนำสินค้าเข้าได้ถึง 1 ปี  และสูงกว่าหนี้ทั้งหมดของประเทศที่อยู่ที่ประมาณ 197.5 พันล้านเหรียญ ของตัวเลขปี 2564

ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้จากการขายของและบริการของประเทศเทียบกับรายจ่ายนั้น  ตั้งแต่ปี 2560-2563 เราได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดเฉลี่ยปีละประมาณ  32.9 พันล้านเหรียญ  ซึ่งก็เกิดจากการได้เปรียบทั้งดุลการค้า  และดุลบริการซึ่งในอดีตนั้นไทยมักจะขาดดุล  แต่ด้วยอานิสงค์ของการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เติบโตขึ้นมหาศาลทำให้ไทยเกินดุลบริการมาตลอดตั้งแต่ปี 2558  จนกระทั่งเริ่มขาดดุลในปี 2563 ที่เกิดโควิด-19 ที่ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไปจนถึงวันนี้ที่เราเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  อย่างไรก็ตาม  คาดว่าภายในเวลาอีกไม่นาน  รายได้ของไทยก็น่าจะกลับมาเพียงพอกับค่าใช้จ่ายได้

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับไทยก็คือ ดุลบัญชีทุนที่ติดลบมานานอานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจไทยโตช้าและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาก ตั้งแต่ 10 ปีมาแล้ว  เงินทุนชาวต่างชาติย้ายหรือถอนออกสุทธิจากประเทศไทยทุกปี เฉลี่ยปีละ 12.8 พันล้านเหรียญหรือปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งนี่ก็รวมถึงเงินที่ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยและทุนที่คนไทยนำออกไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากด้วย  นอกจากนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ ก็ยังมีประเด็นสำคัญในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าของอเมริกามาก  ซึ่งถ้าไม่แก้ไข  เราก็อาจจะประสบกับการถอนเงินลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นเงินกู้เพิ่มขึ้น  และนั่นก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินได้  ผมก็ได้แต่หวังว่าผู้รับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจและการเงินของประเทศจะไม่ทำผิดอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2540 อีก

ติดต่อโฆษณา!