Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด หุ้นทั่วโลกปรับขึ้น ความกังวล ศก.ถดถอยยังอยู่
Highlight
Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นตามคาด ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ระดับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25-2.50% ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับในระยะสั้น เช่นเดียวกับราคาน้ำมันและทองคำ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยแถลงการณ์ของ Fed ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มสูงขึ้น กอบศักดิ์ ภูตระกูล ระบุอาจเป็นปัจจัยในการพิจารณาใช้นโยบายการเงินของสหรัฐในอนาคต
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 27 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561
Fed ระบุว่า สัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและการผลิตชะลอตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
แถลงการณ์ของ Fed ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป รวมทั้งปรับลดขนาดงบดุล ขณะที่ระบุว่า การใช้จ่ายและการผลิตได้ชะลอตัวลง แต่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ
การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ โดยสงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการ FOMC ให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่ในเดือนพ.ค. โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี Fed ได้เตือนว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19, ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูง และแรงกดดันจากราคาในวงกว้าง ขณะที่สงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก
จากนั้นนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (27 ก.ค.) ว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงเวลาที่เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนก.ย. และในท้ายที่สุดแล้วเฟดก็อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับ นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในกรอบ 2.25-2.50% ถือเป็นกรอบที่คณะกรรมการเฟดมองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่านโยบายการเงินของเฟดไม่ได้อยู่ในลักษณะผ่อนคลายและไม่ได้อยู่ในลักษณะคุมเข้ม
"ผมคิดว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนี้ว่า เราจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินสู่ระดับที่คุมเข้มปานกลาง" นายพาวเวลกล่าว และยังกล่าวถึงการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจรายไตรมาสที่มีการเผยแพร่ในเดือนมิ.ย.ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2565 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะอยู่ที่ระดับ 3.4%
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เฟดเล็งเห็นถึง "ความเสี่ยงสองด้าน" ในช่วงเวลาที่เฟดเดินหน้าควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งก็คือ "การดำเนินการที่มากเกินไป และการดำเนินการดังกล่าวนั้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินความจำเป็น" แต่เฟดมองว่า การดำเนินการที่น้อยเกินไปและปล่อยให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากเงินเฟ้อ ถือเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่า
ทั้งนี้การประชุม Fed สำหรับปี 2565 ยังเหลืออีก 3 ครั้งคือ
- วันที่ 20-21 ก.ย.
- วันที่ 1-2 พ.ย.
- วันที่ 13-14 ธ.ค.
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้น ตอบรับดอกเบี้ยขึ้นตามที่คาดไว้
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันพุธ (27 ก.ค.) และดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้นมากกว่า 4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์รายวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับอัตราการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ รวมทั้งราคาน้ำมัน แต่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่าธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 2.75% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในวันนี้ (28 ก.ค.) และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% เช่นกันเมื่อคืนวานนี้ (27 ก.ค.)
กอบศักดิ์ ชี้เข้าสู่เฟส 2 สงครามระหว่างเงินเฟ้อ-เฟด ตลาดกังวลศก.สหรัฐถดถอย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการเข้าสู่เฟส 2 ของสงครามระหว่างเฟดกับเงินเฟ้อ โดยระบุว่า หลังจากการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นต่างๆ ปรับตัวขึ้น เช่น ดัชนี Dow Jones +500 จุด หรือ +1.6% ดัชนี Nasdaq +480 จุด หรือ +4.1% ขณะที่ Bitcoin บวกเกือบ 2,000 ดอลลาร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเฟดกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของสงครามที่นักลงทุนเริ่มเห็นว่า 1.สูตรยาของเฟดเริ่มแรงพอ และ 2.ยาเริ่มออกฤทธิ์
โดยมุมมองที่นักลงทุนเห็นว่า "สูตรยาของเฟดเริ่มแรงพอ" เนื่องจากไม่มี surprise ในสิ่งที่ประธานเฟดพูด เพราะนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มสงครามกับเงินเฟ้อมาที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดเคยกลัว จาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว ที่ตลาดเคยคาดว่าเฟดคงจะต้องขึ้น 1% แต่หลังฟังคำพูดของกรรมการบางส่วน ตลาดก็ค่อยๆ ปรับการคาดการณ์ว่าครั้งนี้คงจะขึ้นประมาณ 0.75% พร้อมแอบกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะมีอะไรมากเกินที่คิด แต่สุดท้ายเฟดก็มาตามนัด
"เรื่องนี้มีนัยยะ เพราะจากที่เฟดเคยมือหนัก ใส่ยาแรงกว่าที่เคยบอกไว้เสมอ บอก 0.25% ก็ขึ้น 0.5% บอก 0.5% ก็ขึ้น 0.75% ครั้งนี้ บอก 0.5-0.75% ก็ทำตามที่พูด 0.75% หมายความว่า สูตรยาที่เฟดจ่าย เริ่มแรงพอ ไม่มีแถม" นายกอบศักดิ์ ระบุ
นอกจากนั้น ประธานเฟดยังบอกระหว่างแถลงว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เป็นการขึ้นที่มาก และเป็นขนาดที่ไม่ปกติ ถ้าข้อมูลชี้ว่ายังจำเป็นอยู่ ครั้งหน้าคงขึ้น 0.75% อีกครั้ง แต่ 1.0% ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ทำให้ตลาดโล่งใจว่าที่แย่ๆ เฟดต้องมือหนัก ได้ผ่านไปแล้ว
ส่วนอีกมุมมองที่นักลงทุนเห็นว่า "ยาเริ่มออกฤทธิ์" เนื่องจากความกังวลใจเริ่มเปลี่ยน ภาษาที่เฟดใช้เริ่มเปลี่ยน โดยในแถลงการณ์ล่าสุด เริ่มบอกว่าการใช้จ่ายและการผลิตเริ่มอ่อนตัวลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ความคึกคักของภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มลดลง การลงทุนของภาคธุรกิจก็หดตัวลง
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งระหว่างที่ฟังคำถามจากผู้สื่อข่าวก็คือ "ความกังวลใจของทุกคนเริ่มเปลี่ยน" จากช่วงก่อนหน้า เดิมกังวลใจว่าจะเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ เงินเฟ้อกำลังพุ่ง และไม่รู้ว่าจะพุ่งไปถึงที่ไหน แต่ตอนนี้ผู้สื่อข่าวเริ่มคิดว่า เงินเฟ้อน่าจะเริ่ม Peak และดีขึ้นในช่วงถัดไป จึงไม่เน้นถามเรื่องเงินเฟ้ออย่างเคย แต่กลับมากังวลใจเรื่องใหม่แทน ก็คือ Recession เช่น การตั้งคำถามว่าเราอยู่ใน Recession หรือยัง และจะวัดอย่างไร, ถ้าวันพรุ่งนี้ ตัวเลข GDP Q2 ออกมาติดลบ จะถือว่า Recession หรือยัง, เฟดจะลดดอกเบี้ยเมื่อไร และเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เฟดลดดอกเบี้ย
เรียกได้ว่าเป็น "หนังคนละม้วน" กับช่วงก่อนหน้า จากที่มักจะถามว่า "จะใส่ยาแรงกว่าเดิมอีกไหม" ตอนนี้เริ่มกลายเป็น "จะลดยาเมื่อไร" ยอมรับกับความจริงว่า การต่อสู้ของเฟดกับเงินเฟ้อกำลังเข้าสู่ช่วง 2 และ Recession รออยู่
“Soft landing คงเกิดยาก เพราะแม้แต่ประธานเฟดยังบอกว่า หนทางไปสู่จุดนั้น ดูยากขึ้นเรื่อยๆ โดยประธานเฟดได้ขอให้ทุกคนทำใจ เศรษฐกิจจะต้องตก ต้องแผ่วไปช่วงหนึ่ง (below trend) แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายความต่อไปว่า คนจะต้องตกงาน บริษัทต้องปิด แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในระยะยาว” นายกอบศักดิ์ กล่าว
"ทั้งหมดนี้รวมแล้วหมายความว่า เราได้เข้าสู่ Phase 2 ของสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังตายใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่ประธานเฟดยังไม่ยอมบอก ยังตอบเลี่ยงไปมา ก็คือ ดอกเบี้ยสุดท้ายแล้วจะต้องขึ้นไปสูงสุดแค่ไหน ต้องจ่ายยาอีกเท่าไร อีกกี่รอบจึงจะเอาอยู่ เรื่องนี้จะสำคัญต่อไป เพราะตลาดยังคิดว่า 3.5-3.8% น่าจะพอ แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจต้อง surprise เป็นระยะๆ ทุกๆ 6-8 สัปดาห์" นายกอบศักดิ์ ระบุ