ส่องหุ้นปลอดภัย..จากความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ จับตาผลกระทบหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
Highlight
ความกังวลความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ เหยียบแผ่นดินไต้หวัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ และอาจส่งผลให้ประเด็นการยกเลิกกําแพงภาษียืดเยื้อออกไปได้ อย่างไรก็ตามไม่มีการปะทะทางทหาร ทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นได้ในวันนี้ บล.เอเซีย พลัส แนะนำหุ้นปลอดภัย BEM, BAM ในขณะที่ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ชี้ควรจับตาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยที่อยู่ใน Supply Chain ส่งออกไปไต้หวันถึง $2.9 พันล้านเหรียญในปี 2564
บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS ระบุความกังวลนักลงทุนเกี่ยวกับความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีนกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ หากประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ประเด็นการยกเลิกกําแพงภาษียืดเยื้อออกไปได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีโอกาสพลิกกลับมาผันผวนอีกครั้ง
ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ จึงทําการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ในช่วงที่ตลาดเกิดแรงกดดันจากการตั้งกําแพงภาษีของสหรัฐในทุกๆ รอบ กดดัน SET Index มีการปรับฐานเฉลี่ยราว -10% ต่อรอบ มีรายละเอียดดังนี้
- การขึ้นภาษีรอบที่ 1 – 2 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (กดดันตลาดเดือน พ.ค. - มิ.ย.61) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -10.4%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 3 วงเงิน 2.0 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือน ต.ค. - ธ.ค.61) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -11%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 4 วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือน ส.ค. - ธ.ค.62) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -8.1%
พร้อมกับ Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในระดับเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท/รอบ และหากพิจารณเป็นราย Sector พบว่า หลายๆ Sector ส่วนใหญ่ถูกกัดดันแรงกว่าตลาด แต่ยังมีกลุ่มที่ Outperform อยู่ อาทิกลุ่ม HELTH, TRANS, BANK, FIN เป็นต้น
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส แนะนำหุ้น BEM, BAM ซึ่งปลอดภัยและผลกระทบน้อยจากความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ
ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุกรณีที่ประธานสภาสหรัฐได้เยือนประเทศไต้หวัน ทำให้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยล่าสุดจีนได้ตอบโต้ประกาศแบนการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันซึ่งพึ่งพาจีนค่อนข้างมาก (ไต้หวันมีส่งออกสัดส่วนประมาณ 28% ไปยังจีนและส่วนใหญ่ประมาณ 67% เป็นเครื่องจักร/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์)
ฝ่ายวิจัย มองเป็นลบต่อ Sentiment ระยะสั้นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยที่อยู่ใน Supply Chain ส่งออกไปไต้หวันมูลค่าประมาณ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของมูลค่าการส่งออกไปไต้หวันทั้งหมด สูงที่สุดหากเทียบกับสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมอื่นๆ
เมแบงก์ประเมินผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น น่าจะยังจำกัด (กระทบเชิงเฉพาะกลุ่ม และยังถือว่าไม่มีนัยสำคัญ) ในกรณีที่การตอบโต้ของจีนจะยังไม่ขยายวงกว้าง ลุกลามมากขึ้น (เช่น ใช้กำลังทหาร หรือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน)
บล.เคทีบีเอสที มีมุมมองเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงมากขึ้น ทางรัฐบาลจีนเริ่มกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นและเริ่มเห็นปัญหาในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาธนาคารขนาดเล็กของจีนบางแห่งเริ่มมีปัญหา liquidity และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนก็เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับประเด็นของไต้หวัน ตลาดจับตาดูการซ้อมรับของจีน (4-7 ส.ค.) หากไม่มีความคืบหน้าเหตุการณ์เรามองว่าตลาดน่าจะข้ามผ่านเรื่องนี้ไปได้ ส่วนในเรื่องการ Sanction นั้น จีนพยายามไม่แตะอะไรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไต้หวัน โดยเฉพาะ Chip, ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุ
บล. กรุงศรี ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเหนือ 1,600 จุด หลังนักลงทุนคลายความกังวลการเยือนไต้หวันของประธานสภาฯสหรัฐ ไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ประกอบกับแรงซื้อดักงบฯไตรมาส 2 (2Q22) ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนดัชนี อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงหลังสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นจะเป็นแรงฉุดให้ดัชนีสลับอ่อนตัวลง
บล.กรุงศรี แนะนำกลยุทธ์การลงทุน : Selective Buy หุ้น GPSC BGRIM GULF RATCH SCGP SCC EPG ได้อานิสงส์ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลง และ KCE HANA DELTA รับอานิสงส์หุ้นกลุ่ม Tech ฟื้นตัวขึ้นแรง
ส่วนกลุ่มหุ้นที่คาดว่างบ 2Q22 เติบโต CKP GFPT TFG TOP SPRC BANPU IVL SNNP CPN CENTEL
SET Index เมื่อเวลา 11.58 น. ของวันที่ 4 สิงหาคม 2565 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,601.07 จุด เพิ่มขึ้น 6.34 จุด หรือ+0.41% มูลค่าการซื้อขายรวม 34,948.82 ล้านบาท