ไทยออยล์อู้ฟู่ Q2/65 ฟันกำไร 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,093.2%
Highlight
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลประกอบการ Q2/65 และผลการดำเนินงาน 6 เดือน หรือรอบครึ่งปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้กว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยมีผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 1000% ในไตรมาสที่ 2/65 และ เกือบ 500% สำหรับงวดครึ่งปี ซึ่งกำไรที่สูงขึ้นมาจากปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวและค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดตึงตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะด้านอุปสงค์และอุปทานรวมทั้งสถานการณ์สงคราม
TOP ดำเนินธุรกิจธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับชั้นนำแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีธุรกิจหลักคือ โรงกลั่นนํ้ามัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน
ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 65 มีกำไรสุทธิ 25,326 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.41 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 2,122 ล้านบาท หรือกำไรเพิ่มขึ้น 1,093.2% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.04 บาท
ส่วนผลการดำเนินงาน 6 เดือนของปี 65 มีกำไรสุทธิ 32,509 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 15.94 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงาน6 เดือนของปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 5,482 ล้านบาท หรือกำไรเพิ่มขึ้น 493% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.69 บาท
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 ปรับดีขึ้นหลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวและค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดตึงตัว ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนสูง ในขณะที่ค่าการกลั่นเริ่มปรับลดลงสู่ระดับปกติ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานปรับสู่สมดุล ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันเบนซินทยอยปรับสู่ระดับปกติ
ในไตรมาส 2 /65 มีรายได้จากการขาย 143,892 ล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไทยออยล์บันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 7,557 ล้านบาท มีการบันทึกขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาบริหารความเสี่ยง 12,626 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 25,327 ล้านบาท (จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,123 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้บันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นของ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในไตรมาส 2/65 จำนวน 12,880 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว เพื่อนำไปชำระเงินกู้ยืมระยะสั้น (Birding Loan) สำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซีย
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมธุรกิจการกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์และราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์เร่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจตามแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) และ การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย
รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน
ราคาหุ้น TOP เมื่อ 10 ส.ค.เวลา 10.47 น.อยู่ที่ 52 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือ +1.96%
อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงกลั่นยังคงได้รับความกดดันจากกรณีรัฐบาลมีแนวคิดและขอความร่วมมือธุรกิจโรงกลั่นส่งกำไรบางส่วนจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมัน เรื่องดังกล่าวยังเป็นแนวคิดและไม่ได้มีกฏเกณฑ์บังคับ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า หลังราคาน้ำมันโลกได้พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไปอยู่ที่ 130-140 ดอลลาร์/บาเรลทำให้หลายๆ คนกังวลใจว่าจะเกิดปัญหา Stagflation นั้น
มาถึงวันนี้ ราคาน้ำมันโลกได้ลดลง กลับมาที่จุดเริ่มต้นก่อนเกิดสงครามอีกครั้ง ราคาน้ำมัน Brent ต่ำสุดวันนี้ที่ 94.5 ดอลลาร์/บาเรล ราคาน้ำมัน WTI ต่ำสุดวันนี้ที่ 90.56 ดอลลาร์/บาเรล ต่ำกว่าระดับจุดเริ่มต้น ก่อนปรับตัวขึ้น สะท้อนว่า ราคาน้ำมันโลกขึ้นได้ ก็ลงได้เช่นกัน
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่าหากราคาน้ำมันโลกไม่ขึ้นสูงไปเช่นเดิม ยังวิ่งอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์/บาเรล แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็จะค่อยๆ ลดลง
ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดเมื่อ 10 ส.ค.65 ดังนี้
ราคาน้ำมันปรับลด หลังอิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดได้อีกครั้ง
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังสหภาพยุโรป (อียู) ได้เสร็จสิ้นการจัดทำร่างข้อเสนอในการรื้อฟื้นข้อตกลง นิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ ซึ่งหากทางสหรัฐฯ และอิหร่านบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ จะปูทางให้อิหร่านสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบ 1.0 - 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ตลาดโลกได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน
- ยูเครนได้ระงับการส่งน้ำมันของรัสเซียผ่านท่อส่ง Druzhba ซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศ ที่มีการส่งน้ามัน 250,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมการขนส่งน้ำมันจากรัสเซีย โดยมีสาเหตุจากมาตรการคว่าบาตรของชาติตะวันตก ส่งผลให้ฮังการี สาธารณรัฐเชก และสโลวาเกียไม่ได้รับน้ำมันผ่านท่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 65
- หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขน้ามันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจาสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ส.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงราว 0.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมัน เบนซินคงคลังปรับลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ไทยออยล์ ณ 4 มีนาคม 2565
บมจ.ปตท. 48.03%
นักลงทุนต่างชาติ 14.03%
นักลงทุนในประเทศ 27.71%
ThaiNVDR 10.23%