11 สิงหาคม 2565
916

3 กองทุน พิชิตเงินเฟ้อ หลังเงินเฟ้อ "ไทย" พุ่งแรงสุดในรอบ 13 ปี

3 กองทุน พิชิตเงินเฟ้อ หลังเงินเฟ้อ "ไทย" พุ่งแรงสุดในรอบ 13 ปี
Highlight


ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่นักลงทุนหลายคนมีความกังวล ประกอบกับผลพวงจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ปรับเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายคนจึงมีคำถามว่า แล้วเราจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรได้บ้าง เพื่อให้สามารถชนะเงินเฟ้อ สำหรับ 3 กองทุนที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ กองทุนรวมหุ้น และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก



ถ้าหากพูดถึงประเด็นสำคัญในโลกของการลงทุนแล้วละก็ มีเรื่องหนึ่งที่นักลงทุนมีการพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ และถือว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในโลกของการลงทุน เพราะเป็นส่วนที่ชักนำทุกคนมาลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินธรรมดานั่นก็คือ “เงินเฟ้อ”

เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินนั้นด้อยค่าลง ซึ่งหากเราปล่อยให้เงินที่หามาได้นั้นนอนนิ่งอยู่เฉย ๆ แต่ในขณะเดียวกันเงินเฟ้อนั้นปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายความว่า เงินในกระเป๋าของเราก็จะมีมูลค่าน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้ซื้อของชิ้นเดิมไม่ได้ เพราะว่าราคาสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง!!

และในบางครั้งก็อาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่จากทะเลที่จู่ ๆ ก็ก่อตัวสูงขึ้น และพร้อมที่จะถาโถมเข้าสู่ฝั่ง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของเรา เพราะว่าเงินที่เรามีอยู่นั้นได้ถูกด้อยค่าลงอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว และในระยะยาวราคาสินค้าต่าง ๆ เมื่อปรับขึ้นไปแล้วก็ยากที่จะปรับลดลงมา

ตัวอย่างเช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ COVID-19 เมื่อคลายล็อกดาวน์ผู้คนมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น แต่สินค้าและบริการที่ผลิตมายังไม่เพียงพอ (จากการปิดเมืองไปก่อนหน้านี้) ก็ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำรอยยังมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น (ราคาพลังงานเป็นส่วนประกอบหลักของเงินเฟ้อ) ทำให้ต้นทุนทางการขนส่งสูงมากขึ้น ราคาสินค้าก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ด้วยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแบบนี้ ทำให้เริ่มเห็นแต่ละประเทศเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดยั้งเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น แต่บางประเทศก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ซึ่งหากเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็อาจทำให้เศรษฐกิจแย่ลงก็เป็นไปได้ (ในการที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงได้นั้น มีหลายวิธีการ เช่น ควบคุมราคาสินค้า ออกพันธบัตรรัฐบาล ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงใช้นโยบายการเงินและการคลังอื่น ๆ )

จึงทำให้เราเริ่มเห็นการดำเนินนโยบายทางการเงินที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง หรือในจีนที่ยังคงแก้ไขปัญหา COVID-19 ไม่ได้นั้นก็มีโอกาสที่จะเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นกัน

ณ จุดนี้ทำให้ใครก็ตามที่ลงทุนอยู่ อาจต้องกุมขมับเลยก็ว่าได้ เพราะหากดูผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ก็มีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ก็เริ่มที่จะแย่ลงเพราะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบางคนที่ลงทุนในหุ้นก็เจอกับภาวะความผันผวนของตลาดโลกด้วย เนื่องจากกระแสเงิน (Fund Flow) มีการหมุนไปหมุนมา เพื่อแสวงหาที่ที่ได้ผลตอบแทนสูง ๆ

จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วช่วงนี้ลงทุนอะไรดี ??” มีกองทุนรวมประเภทไหนที่พอจะลงทุนได้บ้าง ? แน่นอนว่าก็ควรที่จะต้องเป็นสินทรัพย์ที่สู้ หรือ ไม่ผันผวนไปตามเงินเฟ้อ หรือ ปรับตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อไปได้ด้วย ดังนั้นเรามารู้จัก 3 กองทุนรวมที่น่าสนใจและสามารถพิชิตเงินเฟ้อในช่วงนี้กัน


1. กองทุนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

กองทุนนี้จะไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลประเภทหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีอัตราเงินเฟ้อ โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน 100% ถึงแม้ว่าดัชนีเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงก็ตาม และบวกด้วยส่วนชดเชยเงินเฟ้อ ทำให้ได้ผลตอบแทนที่สามารถรักษาอำนาจซื้อได้อย่างสมบูรณ์ โดยพันธบัตรชนิดนี้จะปรับตัวตามเงินเฟ้อได้อย่างดี

โดยผู้ถือครองจะได้ผลตอบแทนกลับมา 3 ทาง คือ

(1) ผลตอบแทนแบบคงที่

(2) ผลตอบแทนจากส่วนชดเชยเงินเฟ้อ

(3) เงินต้น+ส่วนชดเชยเงินเฟ้อ

ทำให้พันธบัตรแบบอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อนี้น่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะช่วยให้เราสามารถรักษามูลค่าเงินของเราไม่ให้เงินเฟ้อกัดกินไป แต่กองทุนนี้มีระยะเวลาในการถือครองพันธบัตรค่อนข้างยาว จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาว (7-10 ปีขึ้นไป) มากกว่านักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนระยะสั้น


2. กองทุนรวมหุ้น

ถ้าหากนักลงทุนยังคงชอบลงทุนในหุ้น ก็อาจจะปรับสัดส่วนการลงทุนในกองทุนเดิมไปลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มใหม่แทน โดยเน้นที่คุณภาพของหุ้น หรือบริษัทที่มีความแข็งแรง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่สร้างกระแสเงินสดได้ดี ที่เน้นรายได้สม่ำเสมอแม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี เช่น กองทุนหุ้นกลุ่มสุขภาพ หรือ กองทุนหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไฟฟ้า ประปา หรือการบริการขั้นพื้นฐาน หรือ หุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็น ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยบริษัทเหล่านี้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง จะสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าตามได้ง่าย หรือเป็นบริการที่ทุกคนต้องมาใช้ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะยังได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ หรือนักลงทุนอาจจะเน้นไปลงทุนในกองทุนหุ้นปันผลที่เน้นลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกระแสเงินสดมาก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน


3. กองทุนสินทรัพย์ทางเลือก

โดยเน้นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับนักลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างปัจจุบันที่นักลงทุนนิยมลงทุนมากขึ้น ก็คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ กอง REITs (Real Estate Investment Trusts) ที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ มีเงินปันผลประมาณปีละ 5 – 8% ต่อปี เพราะว่ารายได้จากการลงทุนในกองทุนนั้นมาจากค่าเช่าและค่าบริการที่เกิดขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์ เช่น ถ้าอสังหาริมทรัพย์ในกองทุนเป็น ห้างสรรพสินค้า รายได้คือ ค่าเช่าพื้นที่ในห้างเพื่อการค้าขายนั่นเอง นอกจากนี้ในระยะยาวค่าเช่าก็สามารถปรับให้สูงขึ้นเพื่อชนะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

ดังนั้น ในภาวะตลาดที่ไม่ค่อยสดใสแบบนี้จึงทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ กอง REITs มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ เราจะเห็นนักลงทุนในประเทศไทยหลาย ๆ คน โยกย้ายเงิน “หนี” ออกจากตลาดหุ้นที่กำลังผันผวนเข้าไปในสินทรัพย์ที่คุ้นเคยมากกว่า และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว เช่น กองทุนทองคำ หรือ กองทุนหุ้นนอกตลาด หรือ สินค้าการลงทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ลงทุนตามปกตินั่นเอง (สินทรัพย์ทางเลือกที่ผลตอบแทนระยะยาวมีโอกาสชนะเงินเฟ้อได้) ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

โดยสรุป การลงทุนในช่วงที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก ๆ นั้น นักลงทุนอาจจะต้องทำการบ้านหนักมากขึ้น ด้วยการคัดเลือก และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มี “คุณภาพ” ที่สามารถเติบโตได้แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงแบบนี้เข้ามาในพอร์ตลงทุน เพื่อให้พอร์ตลงทุนของเราสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อย่างราบรื่น

แต่ถ้านักลงทุนบางท่าน ไม่มีเวลาในการคัดเลือกกองทุนเอง หรือไม่มีเวลาทำการบ้านเพื่อหากองทุนรวมที่เหมาะกับสถานการณ์แบบนี้มากนัก บางครั้งก็อาจจะใช้วิธีการไปลงทุนผ่านกองทุนผสม ที่ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกสินทรัพย์มาให้เรียบร้อยแล้วก็ได้เช่นกัน โดยหากเป็นกองทุนผสมที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เราได้กระแสเงินสดที่ดีในช่วงเงินเฟ้อสูง ซึ่งก็น่าจะสู้กับเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมหวังว่านักลงทุนจะสามารถปรับพอร์ตให้ผ่านพ้นช่วงคลื่นลมทะเลที่แปรปรวนไปให้ได้ และเมื่อพ้นช่วงสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ไม่เป็นใจเหล่านี้ไป ผมเชื่อว่าฟ้าหลังฝนก็ย่อมที่จะสดใสอย่างแน่นอนครับ

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


ที่มา : SET Invest Now

ติดต่อโฆษณา!