14 สิงหาคม 2565
3,992
Wellness Tourism ความท้าทายธุรกิจท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เมกะเทรนด์ที่น่าจับตา
Highlight
‘Health and Wellness’ ซึ่งเป็นอีกเมกะเทรนด์เกี่ยวกับสุขภาพ ที่มีโอกาสเติบโตสูง ตอบโจทย์ผู้บริโภคของผู้ประกอบการและ SME สู่การประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่นยืน โดยธุรกิจด้านสุขภาพ เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตได้ดีทั่วโลก สวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเสริมสุขภาพจิต ธุรกิจเทคโนโลยี นวัตกรรมดูแลป้องกันรักษาสุขภาพ ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจการให้บริการ ดูแลสุขภาพที่บ้าน ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสปาและความงาม รวมไปถึงยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ
จากข้อมูลของสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute : GWI) ได้มีการทำวิจัยเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) เมื่อปี 2563 พบว่าตลาดมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยสาขามูลค่าธุรกิจใหญ่สุดมีดังนี้..
1. การดูแลตัวเอง ความสวยงาม การชะลอวัย (Personal Care & Beauty) ราว 9.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
2. การทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือทานอาหารเป็นยา อาหารลดน้ำหนัก (Healthy Eating, Nutrition, Weight Loss)
3. สาขาการออกกำลังกายและกายภาพ (Physical Activity)
4. สาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งจะเป็นสาขาที่จะเติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2573 คาดว่าจะเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้มาก จะเป็นการช่วยเหลือประเทศในเชิงคุณภาพ เพราะใช้จ่ายต่อหัวสูง
สำหรับประเทศไทย Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2560 จาก GWI พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดนี้สูงถึง 12.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน
Health and Wellness เติบโต สร้างโอกาส 13 กลุ่มธุรกิจ
ห้วงหลายปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการและ SME มองเห็นโอกาสในการต่อยอดสินค้าจากบริการแบบเดิม ให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกายจิตใจของคนในยุคดิจิทัล จึงหันมาพัฒนาธุรกิจด้าน Wellness หรือที่เรียกว่า Wellness Tech กันมากขึ้น ซึ่ง 13 กลุ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตได้ดีจนประสบความสำเร็จจะมีอะไรบ้างตามมาดูกันเลย
1. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
แน่นอนว่าการมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น ต้องเริ่มมาจากการกินและดื่มเพื่อสุขภาพ ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จึงทำธุรกิจที่มาจากความต้องการของผู้บริโภคที่คำนึงเรื่องสุขภาพจากการบริโภคเป็นหลัก คนกลุ่มนี้ต้องการกินและดื่มในสิ่งที่ไม่ทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกระแสที่ทำให้คนหันมาเลือกวัตถุดิบจำพวกออร์แกนิก หรือ non-GMO กันมากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ ดีท็อกซ์ คอมบูชะ เป็นต้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เช่น Daily Harvest ที่ให้บริการทั้งซื้อ และทำอาหารออร์แกนิกพร้อมจัดส่งถึงบ้าน
2. กลุ่มวิตามินและอาหารเสริม (Vitamins & Supplements)
ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จะนำเสนอวิตามินและอาหารเสริม เพื่อสุขภาพเฉพาะตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น บริษัท care/of ที่ขายวิตามินโดยให้ลูกค้าตอบคำถามเบื้องต้น นำผลมาวิเคราะห์แล้วนำเสนอวิตามินที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยจะจัดส่งถึงบ้านเป็นรายเดือน เป็นต้น
3. กลุ่มโภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย (Active Nutrition)
นอกจากกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่หันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว กลุ่มที่มีศักยภาพและเติบโตมากขึ้นทุกปีคือ กลุ่มผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย ที่ต้องการอาหารเสริมทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายนี้ เช่น Foodspring ที่พัฒนาอาหารเสริม เครื่องดื่ม ขนมแบบออร์แกนิก เพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายของผู้ออกกำลังกาย เช่นต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมและลดน้ำหนัก เป็นต้น
4. กลุ่มเทคโนโลยีทางโภชนาการ (Nutrition Tech)
ภาคธุรกิจในส่วนนี้จะนำเสนอแพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคล เช่น บริษัท Viome ที่จะวิเคราะห์โปรไฟล์ทางชีวเคมีของผู้ใช้งาน เพื่อจะได้ให้คำแนะนำเรื่องอาหารการควบคุมอาหาร สำหรับลดน้ำหนัก ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล
5. กลุ่มฟิตเนส (Fitness)
จากการทำธุรกิจฟิตเนสแบบเดิมที่มีสถานที่ตั้งแล้วให้คนมาออกกำลังกาย ในยุคนี้ภาคธุรกิจด้านฟิตเนส เห็นปัญหาว่าคนมักจะไม่ค่อยมีเวลาหรือทำงานกันยุ่งมาก ทำให้คนที่ชอบออกกำลังกายแต่ไม่สามารถไปยิมได้ ก็คิดบริการใหม่สำหรับการนำยิมไปเดลิเวอรีถึงที่ทำงานหรือที่บ้านกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่การให้บริการจองคิวออกกำลังกายกับฟิตเนส หรือเทรนเนอร์ชื่อดัง เป็นต้น ผู้ประกอบการที่น่าสนใจที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น บริษัท MIRROR ที่ทำธุรกิจตามชื่อ นั่นก็คือผู้ใช้งานสามารถออกกำลังกายหน้ากระจก (อุปกรณ์เฉพาะของ MIRROR) ได้ทุกที่ทุกเวลา
6. กลุ่มเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ต่อเชื่อมกับชุด (Athleisure & Connected Apparel)
จากกระแสการชอบออกกำลังกายที่กลายมาเป็นกิจกรรมสำคัญของผู้คนในยุคนี้ เครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนมองหา ทั้งเพื่อนำมาช่วยให้สามารถติดตามความคืบหน้าของการออกกำลังกายของตัวเองได้ หรือการสวมใส่เพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมการออก กำลังกายของตัวเองมากที่สุด แม้กระทั่งแบรนด์ที่เป็นเสื้อผ้า รองเท้าแอคทีฟแวร์ชื่อดัง เช่น Outdoor Voices หรือ Allbirds ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
7. กลุ่มด้านการนอนหลับ (Sleep)
ชีวิตที่อยู่ดีมีสุขในองค์รวมนั้น พ่วงไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ธุรกิจด้านการนอนหลับในยุคนี้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมการนอนที่ดีขึ้นให้กับผู้คน เช่น บริษัท Sleepace ที่ให้บริการโซลูชันการนอนหลับที่ชาญฉลาด
8. กลุ่มสุขภาพจิต (Mental Wellness)
นับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตขึ้นมาก เพราะเรื่องจิตใจ นับวันยิ่งมี ความสำคัญต่อการใช้ชีวิต และการมีความสุขของผู้คนในสมัยนี้ผู้ประกอบการบางรายจึงคิดค้นบริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมี สุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นการให้บริการทั้งแบบส่วนบุคคล และแบบองค์กร
- สตาร์ทอัพที่ให้บริการแบบส่วนบุคคล เช่น แอปฯ ฝึกสมาธิของ Head space หรืออุปกรณ์ติดตามอารมณ์ อย่าง Woebot
- สตาร์ทอัพที่ให้บริการในองค์กร พนักงานคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กร สตาร์ทอัพย่อมเห็นความต้องการ ที่องค์กรให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาสุขภาพจิตใจของพนักงาน (ควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาพ ร่างกาย) จึงคิดค้นโปรแกรมและบริการต่างๆ ไปนำเสนอให้พนักงานในองค์กรทีเดียว
9. กลุ่มความสวยงามและการดูแลความงาม (Beauty & Personal Care)
ในกลุ่มนี้จะมีสินค้าและบริการที่ใกล้เคียงกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่เน้นการใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หรือออร์แกนิก รวมถึงผลิตภัณฑ์แนวโพรไบโอติก หรือแม้กระทั่งสินค้าเฉพาะด้านที่พัฒนาเพื่อดูแลเฉพาะตัวบุคคล ผู้ประกอบการบางรายอาจซื้อฟาร์มออร์แกนิกสำหรับการพัฒนาสินค้าของตัวเองอาทิแบรนด์ Juice Beauty เป็นต้น
10. กลุ่มการท่องเที่ยวและการให้บริการ (Travel & Hospitality)
ในความเป็นจริงกลุ่มท่องเที่ยว หรือ Travel Tech เป็นกลุ่มธุรกิจที่กว้างมาก ในหมวดนี้จึงเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้าน Wellness โดยเฉพาะ เช่น สตาร์ทอัพอย่าง Ketanga Fitness Retreats เป็นผู้บุกเบิกประสบการณ์การออกกำลังกายที่ทันสมัย โดยเป็นออร์แกไนเซอร์ที่รับจัดกิจกรรมโปรแกรมดูแลการออกกำลังกายและพักผ่อนสำหรับองค์กรทั่วโลก
11. กลุ่มบริการดูแลเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ (Feminine Care)
อาจจะเป็นธุรกิจที่ฟังดูแปลกๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่นสตาร์ทอัพ LOLA ที่พัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพทางเพศของผู้หญิง เป็นต้น
12. กลุ่มฟังก์ชันนัลเฮลท์ (Functional Health)
ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ จะเสนอบริการในรูปแบบดิจิทัล แพลตฟอร์มด้านสุขภาพที่ผสมผสาน ทั้งเรื่อง Wellness และเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพในหลากหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน หรือนำ Health Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีให้กลายมาเป็นเครื่องมือทำธุรกิจ Health and Wellness อาทิเช่น บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘EFORL’ ที่นำ Telemedicine โดยการผลักดันให้โรงพยาบาลในเมืองไทยใช้ระบบ เทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real Time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO Conference
13. กลุ่มอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)
ในกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นการขายสินค้าบริการ ด้านการส่งเสริมสุขภาพในองค์รวม (Wellness) เช่น Brandless ที่มีความตั้งใจขายสินค้าที่ดีกว่า แต่สามารถเข้าถึงได้ในราคาไม่แพง
นอกจากนี้สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ รวมถึง SME บ้านเรา ควรให้ความสำคัญกับ ‘สังคมสูงวัย’ ด้วย เนื่องจากเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีการขยายตัวต่อเนื่อง
ดังนั้นการผลิตสินค้าหรือบริการนอกจากจะต้องได้คุณภาพมาตรฐานแล้ว ภาคธุรกิจยังควรเข้าใจเทรนด์ผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้สูงวัยอย่างถ่องแท้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพ หรือข้อจำกัดของผู้สูงอายุแต่ละบุคคลภายใต้การก้าวทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
ที่มา : Bangkok Bank SME