ได้เวลาอาเซียน ทวงคืนบัลลังก์ ‘ท่องเที่ยว’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
Highlight
บลจ.บัวหลวงเผยภาคการท่องเที่ยวโลกมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 10% แต่ช่วงโควิดการท่องเที่ยวหายไปถึง 50% “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคท่องเที่ยวหนักกว่าเพื่อน ซึ่งก่อนยุคโควิด-19 รายได้ท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 12% และปรับลงต่อเนื่องในปี 2564 เหลือสัดส่วน 4% ไทยและฟิลิปปินส์พึ่งพามากสุดถึง 20% ตอนนี้โควิดเริ่มลดลง การเดินทางกลับมาคึกคัก อาเซียนโดยเฉพาะไทยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยว นักลงทุนจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา
หากรีวิวภาคการท่องเที่ยวอาเซียนอย่างย่อ อาจกล่าวได้ว่าฝ่าฟันอะไรมามากมายในช่วงเวลาไม่กี่ปี จนถึงปัจจุบันที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เห็นแสงอาทิตย์สาดส่องผ่านกลุ่มเมฆ และจะเห็นฟ้าเปิดเต็มที่มีอนาคตสดใสในไม่ช้า บลจ.บัวหลวงพาย้อนเวลาไทม์แมชชีนเส้นทางท่องเที่ยวอาเซียนไปด้วยกัน
อดีต ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ภาคเศรษฐกิจหลักที่เผชิญฝันร้ายหนักหน่วงที่สุด คือ “การท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะฟื้นตัวเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย
ภาคการท่องเที่ยวสำคัญต่อโลกแค่ไหน สะท้อนจากสัดส่วน GDP โดยก่อนโควิด-19 รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของ GDP ทั่วโลก แต่ในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง (Pandemic) สัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเหลือเพียง 5% ก่อนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเป็น 6% ในปี 2564
“อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคท่องเที่ยวหนักกว่าเพื่อน ซึ่งก่อนโควิด-19 รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่ 12% ของ GDP ก่อนจะลดลงเหลือเพียง 6% ในปี 2563 และปรับลงต่อเนื่องในปี 2564 เหลือสัดส่วน 4%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ มากน้อยลดหลั่นกันไปตามการพึ่งพาการท่องเที่ยว ที่หนักหน่อยก็ฟิลิปปินส์และไทย ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 20% ของ GDP ส่วนสิงคโปร์ 10% เวียดนาม 9% และอินโดนีเซีย 6% และหากพิจารณาการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติของอาเซียน ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ไทยที่รายได้จากการท่องเที่ยว 2 ใน 3 หรือเกิน 60% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รองลงมาเป็นเวียดนามที่ 56% ตามมาด้วยมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ 49%
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศในอาเซียนเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องกักตัว หลังจากที่ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้รับวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากร มีเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ยังน้อย แต่ก็ยังเกิน 2/3 ของประชากร
มาที่บ้านเรา เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น และคนไทยเราเองก็เริ่มเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้ธุรกิจเดินหน้าได้ โดยยืนยันด้วยตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเติบโต 13,379% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และโต 17.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
อนาคตอันใกล้ – เห็นสัญญาณบวกที่นักท่องเที่ยวอาเซียนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเด่นชัด โดย BBLAM คาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาประมาณ 15-30% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) และจะกลับมาที่ระดับ 50-80% ภายในปี 2566 ก่อนจะกลับมาสู่ระดับปกติในปี 2567
มาเลเซียจะได้ประโยชน์สูงสุดในกลุ่ม เนื่องจากมีอัตราฉีดวัคซีนที่สูงถึงระดับ 86% และได้ประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ขณะที่ไทยแม้ฟื้นแล้วแต่อาจฟื้นช้า เพราะยังรอนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ซึ่งยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศอยู่
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาเซียนแต่ละประเทศได้พยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนภายในประเทศ อย่างประเทศไทยมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวกลางปีอย่างโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ น่าจะทำให้ท่องเที่ยวไทยในปีนี้คึกคักขึ้น
เพราะนอกจากธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งรายได้หลักแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน และยังส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น ธุรกิจอาหาร การให้บริการ ห้างสรรพสินค้า และการเดินทาง
ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ คาดกันว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีศักยภาพ รับบทพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน
ไม่พลาดโอกาสเติบโตไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค กับกองทุนเปิดบัวหลวงเอเชียทริกเกอร์ ASIATRIGGER ซึ่งกำหนดอัตราผลตอบแทนเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่า 6% ภายใต้กรอบระยะเวลาลงทุนภายใน 12 เดือน
Phillip Research เมื่อ 19 ส.ค. 2565 แนะนำการลงทุนในหุ้นท่องเที่ยวเปิดเมืองสำหรับหุ้นไทย เช่น CENTEL, ERW และ MINT
คำเตือน: การลงทุนมิใช่การฝากเงินและมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวนเมื่อไถ่ถอน (ไม่คุ้มครองเงินต้น) / ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ข้อมูลสำคัญ นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน