28 สิงหาคม 2565
1,181

SME เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

SME เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
Highlight

ดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางขาขึ้นนับจากนี้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับขึ้นครั้งแรก ในรอบ 4 ปี 0.25% เป็น 0.75% เมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา และอาจจะขึ้นอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งนอกจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ได้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงมากเกินไป ธนาคารกรุงแนะนำบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ย และค่าใช้จ่าย รวมทั้งแผนสำรองการเงินไว้ล่วงหน้า


ในที่สุดยุคดอกเบี้ยต่ำอย่างยาวนานของไทยก็อาจกำลังสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากล่าสุดที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% กลายเป็น 0.75% เมื่อ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี อีกทั้งบรรดานักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์พากันคาดการณ์ว่าอาจจะปรับเพิ่มอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งในอนาคตข้างหน้า สอดคล้องกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ทยอยกันปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เพื่อชะลอเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ชนาภา มานะเพ็ญสิริ นักเศรษฐศาสตร์จาก Bnomics ธนาคารกรุงเทพ มีมุมมองว่าเมื่อดอกเบี้ยกำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น SMEs จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง จากดอกเบี้ยขาขึ้นต่อจากนี้ และควรรับมืออย่างไร?

🔺ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบธุรกิจอย่างไร?

ดอกเบี้ย เปรียบเสมือนต้นทุนของการกู้ยืม ดังนั้นเมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ย จึงก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจ SMEs ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีสัดส่วนของการเติบโตจากหนี้สินมากเกินไป เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นแล้วไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ทัน ก็อาจกลายเป็นวิกฤติจนล้มละลายได้ และยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจอื่นๆ ในหลายอุตสาหกรรม ก็จะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะกระทบกับธุรกิจ SMEs ผ่าน 2 ทาง คือ

1. ธุรกิจจะกู้ยืมเงิน เพื่อขยายกิจการได้ยากขึ้น

ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจมักจะเติบโตผ่านการกู้ยืมเงิน เพื่อขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน เพื่อไปลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่ม หรือซื้อกิจการอื่น แต่เมื่อดอกเบี้ยแพงขึ้น กลายเป็นว่าต้นทุนในการกู้ยืมนั้นแพงขึ้นไปโดยปริยาย ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็อาจชะลอการขยายธุรกิจ หรือเลือกที่จะขยายธุรกิจผ่านช่องทางอื่นที่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินแทน

2. ดอกเบี้ยสูงอาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อันที่จริง เป้าหมายที่ของธนาคารกลางทั่วขึ้นดอกเบี้ย ก็เพื่อหวังให้เงินเฟ้อที่ร้อนแรงนั้นชะลอตัวลง แต่ทีนี้หากการขึ้นดอกเบี้ยนั้นไปชะลอการจับจ่ายใช้สอยมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้

เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนก็จะรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินใหญ่ เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะยิ่งพยายามลดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น

นั่นหมายถึง ว่าธุรกิจของคุณจะเผชิญกับปัญหาทั้ง 2 ทางโดยทันที คือ กู้ยืมเงินได้ยากขึ้น และรายได้ลดลง

🔺ผู้ประกอบการ SMEs ควรเตรียมรับมืออย่างไร?

ถึงแม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะทำให้บรรยากาศในการดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น แต่หากคุณเตรียมตัวตั้งรับดีๆ มันก็อาจจะไม่ได้แย่เช่นนั้นเสมอไปก็ได้ 

1. ตรวจสอบค่าใช้จ่ายของบริษัท

ถ้าคุณกังวลว่าธุรกิจอาจเข้าสู่ขาลง คุณอาจจะต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ในขณะนี้ แล้วดูค่าใช้จ่ายคงที่ว่าสามารถตัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้บ้างหรือไม่

2. หยุดใช้จ่ายด้วยการก่อหนี้

ถ้าในตอนนี้เงินที่นำมาหมุนใช้จ่ายในธุรกิจของคุณมาจากการกู้ยืมมา คุณควรจะจำกัด หรือลดการก่อหนี้ประเภทนี้ลงก่อน เพื่อที่จะไม่โดนกระทบหนักจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรืออาจจะมีการคำนวณดูว่าสัดส่วนหนี้ประมาณเท่าไหนที่จะดีต่อบริษัท สามารถช่วยหนุนให้บริษัทเติบโตได้ โดยไม่ต้องมีภาระหนี้มากจนเกินไป

3. ต้องเตรียมเงินทุนสำรอง

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ อย่างน้อยคุณควรจะมีเงินสำรองสัก 3 - 6 เดือน เผื่อว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ คุณจะนำเงินก้อนนั้นมาใช้ดำเนินธุรกิจหรือคิดจะทำอะไรต่อไปได้

หรือถ้าตอนนี้บริษัทของคุณยังมีกำไรอยู่ คุณอาจจะเก็บสำรองเงินสดบางส่วนเอาไว้บ้าง เผื่อว่าในอนาคต ถ้ามีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ คุณจะได้คว้าไว้ได้ทันโดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินในอนาคตที่อาจมีต้นทุนสูงกว่าในตอนนี้

4. ลองทบทวนว่าควรเลือกใช้สินเชื่อแบบหมุนเวียน หรือเงินกู้ระยะยาว

ในบางกรณี การเลือกใช้เงินกู้แบบหมุนเวียน อาจจะสะดวกมากกว่าเงินกู้แบบคงที่ที่มีระยะแน่นอนก็ได้ เนื่องจากจะมีความยืดหยุ่นเรื่องจำนวนเงิน และกำหนดเวลาผ่อนชำระได้มากกว่า แต่หากจะกู้เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การใช้เงินกู้ระยะยาวก็อาจจะเหมาะกว่า เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถวางแผนการเงินและการลงทุนในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการกู้เงินลงทุนทุกครั้ง คุณจำเป็นต้องอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจสัญญาให้ละเอียด แล้ววิเคราะห์ดูว่าแบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ

5. เข้าซื้อบริษัทที่ประสบปัญหา (Distressed Assets)

เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มักจะมีบางบริษัทที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว หากสถานะการเงินของบริษัทคุณในตอนนั้นแข็งแกร่งแล้วคุณอยากจะซื้อกิจการนั้นๆ คุณย่อมได้ราคาที่ถูกกว่าปกติหากเข้าซื้อในสถานการณ์ปกติ ซึ่งอาจทำให้ในระยะยาวคุณจะได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิม


อ้างอิง :  Bnomics, Bangkok Bank SME

https://www.ownr.co/blog/what-changing-interest-rates-mean-for-small-business-owners/

https://www.businessnewsdaily.com/loans/fed-interest-rate-small-business

ติดต่อโฆษณา!