05 กันยายน 2565
19,646

มีเงินเย็นหลักแสน เริ่มลงทุนอะไรดี

Highlight

ทุกคนอยากได้ผลตอบแทนในการการลงทุนที่ดี แต่การลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการวางแผนที่ดีเช่นกัน หากมีเงินเย็นหลักแสนจะลงทุนอะไรดี ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป แนะนำนักลงทุนควรมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทำ Asset Allocation และการปรับพอร์ตลงทุนให้ทันสถานการณ์ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญช่วยวางแผนการลงทุน เพื่อช่วยให้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายได้


หากมีเงินหลักแสน จะบริหารจัดการอย่างไรดีในสภาพตลาดที่ผันผวนในปัจจุบัน หุ้น กองทุน รวม ตราสารหนี้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

คุณอรรถวิมล ด่านกุลชัย ผู้อำนวยการ Investor Solution & Chanel’s Development บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อเรามีเงินออมจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนอยากให้รู้จักกับตัวเองก่อน สำหรับนักลงทุนมือใหม่ อยากให้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนให้ชัดเจนว่า

  • ต้องการลงทุนระยะสั้น หรือลงทุนระยะยาว
  • รับความเสี่ยงได้แค่ไหน
  • เงินก้อนที่เราจะลงทุน เรามีความต้องการใช้เงินลงทุนในก้อนนี้กลับมาในเวลานานมากน้อยแค่ไหน เช่น 1 ปี 3 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า

สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรเลือกสินทรัพย์อะไรในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จะลงทุน คือต้องรู้ว่าเราลงทุนอะไรอยู่ ความเสี่ยงมีมากน้อยแค่ไหน อย่าเพียงแต่ลงทุนเพราะคนอื่นบอกว่าลงทุนสิ่งนี้แล้วจะดี

การกำหนดเป้าหมาย และการยอมรับความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับความเสี่ยงในการลงทุนนั้นคืออะไร

ยกตัวอย่างการยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน เช่น หากลงทุนไปแล้วเกิดขาดทุน ให้ลองประเมินดูว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน เช่น มีเงิน100 บาท ลงทุนแล้วเงินหายไป 50 บาทเรารับไหวไหม นอนหลับไหม ตื่นมาสบายใจหรือเปล่า?

นักลงทุนบางคนมองว่าลงทุน 100 บาท หายไป 50 บาทยังรับได้ แต่ถ้าจำนวนเงินมากขึ้น เช่นลงทุน 100,000 บาท เงินหายไป 50,000 บาท ซึ่งถ้ารับไม่ได้ที่เงินจำนวนมากหายไป หมายถึงรับความเสี่ยงไม่ได้

สำหรับเป้าหมายที่ว่า ถ้าเรามีเงินเย็นหลักแสน คือเงินจำนวนที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะ 3-5 ปี เราก็สามารถนำไปลงทุนได้

สำหรับสินทรัพย์ประเภทกองทุนรวมที่จะลงทุนได้มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจุดมุ่งหมายของการลงทุนในกองทุนรวมคือ มีมืออาชีพดูแลบริหารจัดการพอร์ตลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุน นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมยังมีการกระจายความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุนด้วย รวมทั้งมีนโยบายการลงทุนค่อนข้างหลากหลาย เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม ที่เหมาะกับความเสี่ยงของเรา หรือเหมาะกับเป้าหมายของเราได้


20220905-b-01.jpg


การเลือกสินทรัพย์ให้เหมาะสม

  • รับความเสี่ยงต่ำ สามารถลงทุนใน กองทุนรวมตราสารหนี้
  • รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ลงทุนในกองทุนตราสารทุน
  • รับความเสี่ยงสูงได้ ลงทุนใน กองทุนต่างประเทศ ทองคำ หรือ สินทรัพย์ทางเลือก

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถจัดสรรพอร์ตลงทุนในลักษณะ Asset Allocation

การจัดสินทรัพย์ลงทุน หรือ  Asset Allocation มีข้อดีคือ นอกจากจะกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังให้โอกาสเรารับผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย

การกระจายสินทรัพย์การลงทุน เช่น หากเราสามารถรับความเสี่ยงในระดับปานกลาง อาจจะจัดพอร์ตในลักษณะ มีกองทุนรวมตราสารทุน 30% ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 50% และลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 20% ก็ได้

สำหรับการลงทุนในหุ้น เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าควรลงทุนในหุ้นปันผลพื้นฐานดี หุ้นประเภทนี้มีวิธีดูอย่างไร คุณอรรถวิมล ได้อธิบายไว้ดังนี้

หุ้นพื้นฐานดีนั้นค้นหาไม่ยาก เพียงแต่นักลงทุนสืบค้นข้อมูลคำว่า “หุ้นพื้นฐานดี” จะเจอข้อมูลหุ้นพื้นฐานดีเยอะแยะมากมาย โดยปกติหุ้นพื้นฐานดี จะเป็นหุ้นที่ไม่มีความผันผวนตามสภาวะตลาดมากนัก ซึ่งช่วยลดความกังวลของนักลงทุนในเรื่องผลกระทบในระยะสั้นได้

วิธีการดูหุ้นพื้นฐานดี แนะนำว่าควรดูจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3-5 ปี เพื่อดูว่ากิจการเติบโตหรือไม่ ซึ่งจะดูจากยอดขายหรือรายได้ รวมทั้งกำไรขั้นต้นจนถึงกำไรสุทธิว่าบริษัทสามารถทำยอดขายและกำไรได้มากน้อยแค่ไหน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งสามารถดูได้จากการประกาศงบการเงินของบริษัท

สำหรับการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทนั้น สามารถสอบถามจากนักวิเคราะห์ หรือติดตามฟังจากผู้บริหารบริษัท ที่มักจะนำเสนอผลงานผ่าน “Opportunity Day” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารบริษัทสามารถสื่อสารไปยังผู้ลงทุน เพื่อติดตามความคืบหน้าของกิจการในทุกด้าน ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นหลังจากการประกาศงบการเงินประจำไตรมาส

การฟังข้อมูลเยอะ จะทำให้เรามีความรู้และมุมมองในอุตสาหกรรมหรือหุ้นที่เราลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้หุ้นพื้นฐานดี มักจะมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เห็นได้ชัด คุณอรรถวิมลกล่าว

การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond)

ปัจจุบันตราสารหนี้ภาคเอกชนเข้าถึงนักลงทุนโดยตรงได้เป็นจำนวนมาก เมื่อก่อนตราสารหนี้จะขายตามธนาคาร การลงทุนตราสารหนี้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ  เช่น 100,000 บาทขึ้นไป หรือ 1,000,000 บาทขึ้นไป ถึงจะลงทุนได้

แต่ปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้ของภาคเอกชนบางตัวไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนั้นแล้ว  มีเงินเพียง 1,000 บาทก็สามารถลงทุนได้

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกตราสารหนี้

ปกติเราจะดูว่าตราสารหนี้ตัวนั้นขายให้ใครบ้าง กลุ่มผู้ลงทุนในตราสารหนี้มีด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักลงทุนทั่วไป กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ และกลุ่มสุดท้ายคือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งต้องดูว่าเราเป็นกลุ่มนักลงทุนประเภทไหน สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ

  • ตราสารหนี้ฉบับนั้นขายให้กับใครบ้าง
  • การจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง เพื่อดูว่าบริษัทดังกล่าวอยู่ในระดับไหน ซึ่งเครดิตเรตติ้ง จะสะท้อนถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ หรือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนใหญ่ แนะนำให้ลงทุนในระดับ Investment Grade ขึ้นไป

ปกติแล้วการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง จะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ Investment Grade อันดับเครดิตเรตติ้ง จะอยู่ที่ AAA ถึง -BBB

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มเก็งกำไร หรือ Speculative Grade อันดับ เครดิตเรตติ้ง จะอยู่ที่ +BB ถึง D

ความแตกต่างของกลุ่มผู้ซื้อตราสารหนี้

การแบ่งกลุ่มของนักลงทุนจะดูที่ฐานะทางการเงินของนักลงทุนเป็นหลัก การแบ่งกลุ่มจะเข้าเกณฑ์ลงทุนรายใหญ่ หรือรายย่อย มีเกณฑ์ดังนี้

นักลงทุนรายใหญ่คือใคร

  • รายได้ประจำปี 4 ล้านบาทขึ้นไป
  • มีการลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์มูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือถ้ารวมเงินสดจะต้อง 20 ล้านบาทขึ้นไป
  • มีสินทรัพย์สุทธิ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยไม่รวมที่พักอาศัยประจำ

หากเรามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ 1 ใน 3 ข้อนี้จะถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ตามคำนิยามของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

ข่าวดีคือตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ก.ล.ต.จะมีการ ปรับคำนิยามของนักลงทุนรายใหญ่ใหม่ จากเดิมที่พิจารณาเฉพาะฐานะทางการเงิน แบบใหม่จะพิจารณาความรู้ และประสบการณ์ในการลงทุนด้วย ซึ่งดีมากในการเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนแต่ฐานะการเงินไม่ถึงเกณฑ์ ก็สามารถขึ้นมาอยู่ในกลุ่มนี้ได้

สำหรับเครดิตเรตติ้ง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่พิจารณาสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้นั้น โดยปกติ หากตราสารหนี้มีอันดับเครดิตเรตติ้งดี ผลตอบแทนมักจะต่ำ ส่วนอันดับเครดิตเรตติ้งต่ำ มักจะให้ผลตอบแทนสูง

ในกรณีที่เรามีเงินเย็นและลงทุนระยะยาว แนะนำให้ลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง  Investment Grade ขึ้นไปจะดีกว่า เพราะความเสี่ยงไม่มากนัก แต่ผลตอบแทนก็ยังสูง สำหรับระยะเวลาในการลงทุน ก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนยาวนานขนาดไหน เพราะตราสารหนี้มีให้เลือกหลายช่วงอายุ หรือแม้กระทั่งตลอดชีพ

ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น สินทรัพย์ไหนเหมาะที่จะลงทุน

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น เราควรลงทุนอย่างไร? คุณอรรถวิมลกล่าวว่า สมมุติเรามีเงินเย็น 100,000 บาท อาจจัดสรร 30% เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ อีก 30% ลงทุนในกองทุนรวม อีก 40% ที่เหลือลงทุนในหุ้น

โดยสรุป..ข้อคิดสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ นักลงทุนต้องกำหนดเป้าหมายในการลงทุนว่าเป็นระยะสั้นหรือระยาวมากน้อยแค่ไหน จัดพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ มีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ตามหลักการ Asset Allocation และสุดท้าย..อย่าลืมติดตามพอร์ตการลงทุนไม่ว่าจะเป็นพอร์ตการลงทุนระยะสั้น หรือระยะยาว เพื่อสามารถปรับพอร์ตลงทุนให้ทันสถานที่เปลี่ยนแปลงไป 

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการคำแนะนำหรือที่ปรึกษาการลงทุน
สามารถติดต่อผ่านช่องทาง

LINE : @phillipcapital
Facebook : PhillipCapital Thailand
YouTube : PhilipCapital TH
Tel : 02-635-3123



ติดต่อโฆษณา!