15 กันยายน 2565
1,639

ก.ล.ต. เตรียมห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รับทำ deposit taking & lending เข้าข่ายเป็น Crypto Bank

ก.ล.ต. เตรียมห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รับทำ deposit taking & lending เข้าข่ายเป็น Crypto Bank
Highlight

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์แบบ deposit taking & lending ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวนี้จะคล้ายกับการเป็น Crypto Bank โดยการทำ Hearing สิ้นสุด 17 ตุลาคมนี้ ก่อนประกาศวันที่มีผลบังคับใช้ในโอกาสถัดไป  ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากหลายแพลตฟอร์มคริปโทในต่างประเทศประสบปัญหาต้องปิดตัวลงทำให้ผู้ลงทุนเสียหายในช่วงก่อนหน้านี้


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการในการห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายและประชาชนจากความเสี่ยงทางธุรกิจของผู้ให้บริการ

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบหลักการในการกำหนดหลักเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายและประชาชนทั่วไปจากความเสี่ยงของผู้ให้บริการธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว

รวมทั้งเพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดจากการเข้าใจผิดว่าเป็นบริการที่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานกำกับ จนอาจนำไปสู่ความเสียหายของประชาชน เนื่องจากยังไม่มีการกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ และปัจจุบันมีผู้ให้บริการในต่างประเทศหลายรายที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจนต้องหยุดให้บริการและมีการระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ก.ล.ต. จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลและนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากไปให้กู้ยืมหรือลงทุน และจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก

(2) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝาก แม้ว่าผลตอบแทนดังกล่าวไม่ได้มาจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากไปหาประโยชน์ (เช่น อาจมาจากงบประมาณส่งเสริมการขายของบริษัทหรือบริษัทในกลุ่ม เป็นต้น) ก็ตาม เว้นแต่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(3) ห้ามกระทำการโฆษณาหรือชักชวนบุคคลทั่วไปหรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending ตามข้อ (1) และ (2) ของผู้ให้บริการหรือบุคคลอื่น เช่น เป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถใช้บริการผู้ให้บริการ deposit taking & lending ในต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=834  โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: thanapatk@sec.or.th หรือ ekarit@sec.or.th จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2565

เมื่อ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออกหนังสือเตือนประชาชนใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจทำธุรกรรม DeFi มาครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากเกิดความเสียหายกรณีบริษัทซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) ปิดบริการถอนเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ Z Wallet ชั่วคราว เนื่องจากสินทรัพย์ของลูกค้าที่ไปฝากไว้กับแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินต่างประเทศ Babel Finance และ Celsius Network ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักและล้มละลายในเวลาต่อมา

โดย ก.ล.ต.มองว่าในปัจจุบันการให้บริการและการเข้าไปลงทุนใน DeFi หรือ Decentralised Finance ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะ DeFi ที่ให้บริการในลักษณะการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก (deposit taking & lending) ทั้งในรูปแบบการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปหาประโยชน์ต่อ เช่น นำไปให้ยืม หรือนำไปลงทุนต่อ ซึ่งการให้บริการในลักษณะดังกล่าวมักจะแสดงผลตอบแทนสูงเพื่อจูงใจผู้ซื้อขายให้เข้ามาทำธุรกรรม

อย่างไรก็ดี การทำธุรกรรม DeFi มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงจากตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งอาจมีความซับซ้อน ความเสี่ยงจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลเกินกว่ามูลค่าหลักประกัน (overleverage) ความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานอาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ หรือถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเทคนิคและความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่อาจมีช่องโหว่ ตลอดจนการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การ Rug Pull เป็นต้น 

ดังนั้น ผู้ซื้อขายจึงควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมเนื่องจากการให้บริการในลักษณะ deposit taking & lending ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลภาคตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย

โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนธุรกรรมในลักษณะ deposit taking & lending ทั้งในรูปแบบ decentralized finance หรือ centralized finance และอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป

ติดต่อโฆษณา!