18 กันยายน 2565
1,194

“เงินเฟ้อ” เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอเมริกัน โอกาส SME ไทยลุยตลาดส่งออก

“เงินเฟ้อ” เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอเมริกัน โอกาส SME ไทยลุยตลาดส่งออก
Highlight  
ท่ามกลางวิกฤตเศรฐกิจและเงินเฟ้อสูง แต่ยังมีโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยส่งออกสินค้าสำคัญของไทยที่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็นต้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐไม่สดใสและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ประชาชนมีแผนรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายลงใน 3-6 เดือนข้างหน้า 
 

‘เงินเฟ้อ’ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอเมริกันอย่างไร? 
 
โดยรายงานการสำรวจของ American Psychological Association ของสหรัฐฯ ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน จำนวน 3,012 คน พบว่า ร้อยละ 87 ของกลุ่มตัวอย่าง มีความเครียดเกี่ยวกับเงินเฟ้อและราคาของที่แพงขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าไฟ และค่าอาหาร โดยมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ มากกว่าสงครามในยูเครน และความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบัน 
 
ขณะที่รายงานวิจัยการตลาดของ NPD Group (บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลก) พบว่า ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลงกว่าร้อยละ 6 ในไตรมาสแรกของปี 2022 เทียบกับเมื่อไตรมาสแรกของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ความถี่ในการซื้อสินค้านั้น ก็ลดลงกว่าร้อยละ 5 อีกด้วย นอกจากนี้ NPD Group ยัง พบว่าแปดในสิบของผู้บริโภคคาดว่าจะลดการบริโภคของตนในสามถึงหกเดือนข้างหน้านี้ 
 
นอกจากนี้ธนาคาร Barclays ได้เปิดเผย อัตราใช้จ่ายบัตรเครดิตของผู้ใช้บริการในเดือนกรกฎาคม โดยอัตราการใช้จ่ายบัตรเครดิตของชาวอเมริกันได้ลดลงกว่า 0.4% ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Walmart Target และ Amazon ได้เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า ผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างเห็นได้ชัด โดยเลือกที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ระดับกลางซึ่งมีราคาถูก รวมทั้งลดการใช้จ่ายสินค้าแบบไม่คิด (Impulse Shopping) 
 
จากการสำรวจของ Ipsos (บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและวิจัยตลาด) ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 1,160 คน ร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้สึกว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นจากเดิม โดยร้อยละ 73 รู้สึกว่าราคาเนื้อสัตว์แพงมากขึ้น และร้อยละ 66 รู้สึกว่าราคานมและผักผลไม้สูงมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยเฉพาะในครัว เรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ กล่าวว่า รายได้ครัวเรือนของตนไม่สามารถรับมือกับราคาที่สูงขึ้นได้ 
 
‘เงินเฟ้อ’ ในสหรัฐฯ วิกฤตที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและ SME ไทย 
 
แม้เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่ด้วยปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อน จึงส่งผลให้การส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกา เดือน ม.ค. - มิ.ย. 2022 มีมูลค่าถึง 24,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.7 ส่งผลให้ครึ่งปีหลังยังเป็นโอกาสทองของส่งออกไทย  
 
10 อันดับแรกสินค้าไทยส่งไปจำหน่ายแดนมะกันในปีนี้ (ม.ค. - ก.ค.) ได้แก่ 
 
1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 160,024.37 ล้านบาท 
2. ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 90,694.41 ล้านบาท 
3. เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 44,906.99 ล้านบาท 
4. อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 38,093.21 ล้านบาท 
5. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 29,711.13 ล้านบาท 
6. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 29,236.48 ล้านบาท 
7. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 29,122.20 ล้านบาท 
8. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ มูลค่า 28,743.49 ล้านบาท 
9. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล มูลค่า 28,147.85 ล้านบาท 
10. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 22,607.55 ล้านบาท 
 
 
ทั้งนี้สินค้าสำคัญของไทยที่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็นต้น 
 
ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันผู้ประกอบการและ SME ไทย ควรติดตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หาก FED เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงกว่าปัจจุบัน อาจเสี่ยงทำให้อเมริกา เข้าสู่สภาวะถดถอยแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก 
 
 
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันจากวิกฤตเงินเฟ้อ รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และสถานการณ์การปิดด่านของจีนเนื่องด้วยนโยบาย “Zero Covid” จึงเป็นโอกาสที่จะเพิ่มการสั่งซื้อให้กับผู้ส่งออกสินค้าไทยบางประเภท 
 
เนื่องจากสินค้าบ้านเราจะมีราคาถูกลง นอกจากโปรดักส์หลักที่ควรรุกตลาดแดนมะกันเพิ่มขึ้นแล้ว สินค้าส่งออกไทยประเภท Affordable Luxury ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงถือเป็นโปรดักส์ที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ได้แก่ เทียนหอม เครื่องหอม เป็นต้น นับว่ามีโอกาสในการขยายตลาดแดนพญาอินทรีเช่นกัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจด้วยการเปลี่ยนภาวะเงินเฟ้อให้เป็นโอกาส 
 
 
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร 
Bangkok Bank SME
ติดต่อโฆษณา!