26 กันยายน 2565
2,289

เตรียมตัวอย่างไร เมื่อวิกฤตรอบด้านกำลังพาโลกเข้าสู่ Recession

Highlight

บล.InnovestX จำกัด ประเมินภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาส Q4/2565 ตลาดยังคงผันผวนจากความไม่แน่นอนจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และดอกเบี้ย รวมทั้งราคาน้ำมันซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ รวมทั้งหากเกิดวิกฤตการขาดแคลนพลังงานของยุโรปในฤดูหนาวที่ใกล้มาถึงนี้ ทั้งนี้ InnovestX คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2567 หรือเร็วกว่านั้นจากสถานการณ์ ดังกล่าวการลงทุนในสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะปลอดภัยกว่าการลงทุนในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เพราะยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น



20220926-b-01.jpg

ดร.ปิยะศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.InnovestX จำกัด กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ยังคงมี 3 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม  โดยมีเงินเฟ้อเป็นจุดสำคัญ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และดอกเบี้ย

ในไตรมาส 3 สิ่งที่ตลาดมองคือเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นต่อ โดยเฉพาะยุโรปยังเพิ่มขึ้น ในสหรัฐฯ แม้จะชะลอแล้ว แต่เดือนต่อเดือนก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ และเงินเฟ้อพื้นฐานหรือ Core CPI ยังเร่งตัวขึ้นอยู่ และตัวเลขเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง การจ้างงานก็ยังดีอยู่ แม้จะลดลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยยังเป็นทิศทางขาขึ้น

ธีมของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 จุด จุดแรกคือเงินเฟ้อ เชื่อว่าผ่านจุดพีคไปแล้ว อย่างน้อยในภาพใหญ่เริ่มเห็นสัญญาณจาก 9% กว่า เหลือ 8.5% และ 8.3% แนวโน้มจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมากพอสมควร

ในช่วงที่ผ่านมามีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ก็จะเห็นภาพว่าเมื่อเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและความคาดหวังเงินเฟ้อลดลงในระยะต่อไป

จุดที่สอง เศรษฐกิจชะลอตัว พอดอกเบี้ยขึ้นอย่างในสหรัฐฯ ทำให้ดอก้บี้ยเงินกู้ซื้อบ้านขึ้นด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านปรับขึ้นจาก 2% เป็น 6% ซึ่งกระทบต่อคนกู้แน่นอน เห็นยอดการซื้อบ้านใหม่ การสร้างบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือหนึ่งมือสอง ปรับตัวลดลง เรียกว่าเกิดภาวะ “Housing Recession” เป็น Recession ในตลาดบ้านสหรัฐฯ

ถ้ามองในภาพใหญ่เศรษฐกิจก็ชะลอ โดยเฉพาะจากจีนที่มีการล็อกดาวน์จากนโยบายการคุมโรคระบาด “Zero Covid” ทำให้มีการนำเข้าพลังงานลดลง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง เพราะทำให้ราคาพลังงานลดลง

สองปัจจัยนี้เริ่มมาด้วยกัน คือเงินเฟ้อชะลอตัว เศรษฐกิจชะลอตัว และดอกเบี้ย

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนั้นก็ชัดเจนว่าในการประชุมของ FOMC ในช่วงที่ผ่านมา ก็บ่งชี้ชัดเจนถึงทิศทางดอกเบี้ยว่าจะปรับขึ้นกว่า 4% และมีทิศทางทรงตัวจากจุดนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อ Peak ในระดับหนึ่ง ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นในสหรัฐฯ ที่อื่นอาจจะปรับตามมา แม้ว่าภาพเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ภาพเศรษฐกิจบ้านเราค่อนข้างแตกต่าง

“ผมมองว่าภาพของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในสหรัฐจะเป็นปี 2023 หรือปี 2024 และการชะลอตัวลงขอเศรษฐกิจ”

ดังนั้นในไตรมาสนี้ ธีมเศรษฐกิจและการลงทุนจะเข้าสู่สมดุลใหม่มากขึ้น จาก 3 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว เมื่อตลาดรับรู้สถานการณ์ทั้งเงินเฟ้อ Peak แล้ว  ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น การลงทุนจะไปต่ออย่างไร

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สินค้าที่ยังจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันต่อให้เศรษฐกิจชะลอตัว ก็ยังจำเป็นต้องใช้ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย  แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ก็จะเป็นความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วนการดำเนินนโยบายของไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน เครื่องยนต์หลักๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกและการท่องเที่ยว การลงทุนและการบริโภคในประเทศเป็นอย่างไร

มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง?

ในเรื่องนี้ ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า ภาพของโลกเศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่ภาพของบ้านเรา จะแตกต่างกัน เศรษฐกิจไทยเป็นขาขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังเติบโตระหว่าง 3-3.3%

ถ้าสองไตรมาสแรกโต 2.3%-2.5% และถ้าทั้งปีโต 3.3% ดังนั้นในครึ่งปีหลังน่าจะโตถึง 4% ซึ่งจะมาจากการท่องเที่ยวที่โตขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 5 ล้านคน

ในช่วงที่ผ่านมา ภาคการบริโภคฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ยังมีความเสี่ยงของราคาสินค้าที่แรับสูงขึ้น แม้ว่าภาพโดยรวมเราจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ แต่พอราคาสูงขึ้นก็กระทบกับราคาพลังงาน ค่าเดินทาง จะกระทบกับคนรากหญ้าเป็นหลัก

สำหรับด้านนโยบายการเงินนั้น อันที่จริงธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดความผันผวนพอสมควร ดอกเบี้ยโลกปรับตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบการทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและ  Momentum จากการเคลื่อนย้ายเงินไม่ได้

เรื่องค่าเงินต้องติดตามต่อไป ค่าเงินหยวนของจีนเทียบกับดอลลาร์อยู่ที่ 7 : 1 ด้านเงินบาทก็อ่อนค่ากว่า 37 บาท/ดอลลาร์ หากค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก ๆ ความเสี่ยงคือจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะเราต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เมื่อเงินบาทอ่อนก็ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อ ก็จะกระทบเงินเฟ้อ และราคาพลังงาน

เรื่องการส่งออกเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกของไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 4.1% ลดลงจากก่อนหน้าที่ตัวเลขเติบโตสองหลัก ลดลงค่อนข้างมาก

ดังนั้นทั้งจีน ทั้งเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงและกดดันเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเฟ้อของไทย Peak ไปแล้วเช่นเดียวกัน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาค่อนข้างสูงอยู่ในระดับ 7.86% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 7.6% แต่ระยะต่อไปไม่น่าจะสูงมาก โอกาสที่จะเห็น 8% คงไม่ใช่ น่าจะมีทิศทางที่ค่อยๆ ลงอย่างต่อเนื่องตามเงินเฟ้อโลก สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 5% แต่ดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น

InnovestX คาดการณ์ดอกเบี้ยไทย ในปี 2022 จะอยู่ที่ 1.25% ปี 2023 จะปรับขึ้นอีก 3 ครั้ง อยู่ที่ประมาณ 2%

ส่วนเรื่องนโยบายการคลังก็คงมีมาตรการที่จะมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการบริโภค เช่นต้นทุนการบริโภค เช่น ค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้า และการขึ้นค่าจ้าง ซึ่งพอสรุปได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ยังพอไปได้ แต่ปีหน้ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สำหรับปี 2024 คาดว่าจะเกิด Recession ขึ้นแน่ หรือเร็วกว่านั้น ยุโรปคงหนีไม่พ้น การปิดท่อก๊าซของรัสเซียกระทบมาก ส่วนของสหรัฐนั้นจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะค่อยๆ เข้ามากระทบต่อสหรัฐ แต่เนื่องจากสหรัฐมีกระสุนมากกว่า เมื่อขึ้นดอกเบี้ยแล้วและเศรษฐกิจเขาแย่ลง เขาก็ลดดอกเบี้ยได้ และแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ส่งสัญญาณนั้น แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัวลงรวมถึงไม่เติบโตมากนักในระยะต่อไป ดังนั้นคาดว่าปีหน้าการท่องเที่ยวจะไม่เติบโตแรงมากนัก แม้จะขึ้นต่อแต่อาจไม่ถึง 20 ล้านคน  

ในไตรมาสที่สี่ ซึ่งต่างประเทศเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ยิ่งจะทำให้ราคาน้ำมันผันผวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นปัจจัยหลักที่ต้องติดตามในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ดร.ปิยะศักดิ์ มองว่ามี 2 ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ

  1. เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวมาก ทำให้กดราคาน้ำมันในระดับหนึ่ง
  2. ถ้าอากาศหนาวเย็นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวรวมถึงการ Sanction ก๊าซธรรมชาติในยุโรป ทำให้ Demand พลังงานเพิ่มขึ้น ดึงให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเช่นกัน


“ฉะนั้นน้ำมันมีความผันผวนค่อนข้างมาก เรามองว่าน้ำมันอาจจะไม่สูงมากนัก ช่วงราคาน่าจะอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์/บาเรล ถ้าหาก 2 ปัจจัยเสี่ยงมาพร้อมกัน จะเหมือนกับช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อก๊าซธรรมชาติในจีนหายไป ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันและถ่านหิน จะทำให้เงินเฟ้อกลับขึ้นมา ซึ่งธีมที่เรามองไว้ตรงนี้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไป การลงทุนก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะต่อไป เรื่องน้ำมันต้องจับตามากขึ้น” ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว

สิ่งที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น อาจมาจากทิศทางราคาน้ำมัน  และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและจากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามในไตรมาสที่สี่นี้


ติดต่อโฆษณา!