28 กันยายน 2565
851

ไทยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ตามคาดหวังต้านเงินเฟ้อและเงินทุนไหลออก

ไทยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ตามคาดหวังต้านเงินเฟ้อและเงินทุนไหลออก
Highlight

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ในวันนี้ (28 ก.ย.) จาก 0.75% เป็น 1% เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ของไทยในปีนี้ หลังรับแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐมาหลายระลอก และประกาศจะปรับขึ้นจนกว่าจะคุมเงินเฟ้อได้ ทำให้เงินทุนทั่วโลกเคลื่อนย้ายไปยังตลาดเงินสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินบาทในช่วงบ่ายวันนี้อ่อนค่าแตะ 38.27 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่า 13.35% ในรอบ 1 ปี



คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มีผลทันที จาก 0.75% เป็น 1% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ของไทยในปีนี้ ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในวันนี้แตะระดับ 38.27 บาทต่อดอลลาร์ (ณ เวลา 14.06 น.) หรืออ่อนค่า 13.35% ในรอบ 1 ปี

ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าหากสหรัฐยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ไทยก็คงต้องขึ้นตามอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งในปีนี้

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หากปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ก็เป็นไปตามที่ตตลาดคาดการณ์ คงไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจทำให้เงินบาทปรับอ่อนค่าต่อเนื่องช่วงสั้นได้บ้าง จากการที่นักลงทุนบางส่วนมองไปถึงระดับการขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

ในส่วนของกลุ่มหุ้นนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คงไม่มีผลกระทบเช่นกัน แต่หากมีมติขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% มองเป็น sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มแบงก์ ขึ้นมาได้บ้าง หลังจากวานนี้ราคาปรับตัวลงแรง ในขณะที่กลุ่ม Domestic อื่นๆ อาจต้องระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Rate-sensitive อย่างกลุ่มที่อยู่อาศัยและกลุ่มเช่าซื้อเป็นต้น 

ในส่วนของกลุ่มที่อยู่อาศัยนั้น มองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังด้วยเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงถัดไปอยู่แล้ว หากดูจากอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เอกชนในตลาด ณ เวลานี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนหุ้นกลุ่ม Consumer finance และ Leasing ซึ่งอาจเริ่มเห็นผลกระทบจากต้นทุนการ Refinance ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การเลือกหุ้นลงทุนในกลุ่ม Finance ในช่วงไตรมาส 4 จึงเน้นไปยังตัวหุ้นที่มีภาระการ Rollover หุ้นกู้ในปีนี้ค่อนข้างต่ำ เช่นหุ้น  TIDLOR ขณะเดียวกันยังมี TRIS Rating ที่ระดับ A สูงกว่า หุ้น MTC และ SAWAD อีกด้วย จึงยังคงแนะนำซื้อหุ้น TIDLOR ให้ราคาเป้าหมายที่ 39 บาทต่อหุ้น และยังคงให้เป็นหนึ่งในหุ้น Top pick ประจำไตรมาส 4/65 เช่นเดิม 

บล.เอเซีย พลัส มองปัจจัยแวดล้อมแวดล้อมบ่ายนี้การแกว่งตัวของดัชนีจะแกว่งผันผวนในกรอบ 1,600-1,620 จุด โดยจุดสนใจอยู่ที่ผลการประชุม กนง.การปรับขึ้นดอกเบี้ยฯในระดับ 0.25% น่าจะสะท้อนถึงการให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งมองเป็นปัจจัยบวกต่อภาคบริโภคในประเทศซึ่งเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิ HMPRO และ  MAKRO และอาจเห็นการรีบาวน์ของหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์จากความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยฯ ลดลงชอบ ASK 

บล.กสิกรไทย มีมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.00% โดยให้ติดตาม ธปท.จะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีของไทยปี 2565-2566 ขึ้นหรือไม่ หากปรับขึ้นประเมินเป็น Sentiment บวกต่อดัชนีตลาดหุ้น

นอกจากนี้ติดตามคาดการณ์เงินเฟ้อของไทย  และรอดูท่าทีของธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตามหรือไม่ หากปรับขึ้นตาม 0.25% คาดว่าจะเป็นบวกกับกำไรสุทธิปี 2566 ของธนาคารใหญ่ 5-7% แต่หากไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้อาจเห็น sell on fact กลุ่มธนาคารใหญ่ ในทางตรงกันข้ามจะเห็น Buy on Fact ในกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ 

ส่วนธีมการลงทุน แนะนำเน้น หุ้นเกี่ยวกับการเปิดประเทศจีน คาดจะมี sentiment บวกต่อหุ้น AWC, ERW, EKH  ส่วนธีม Carbon Credit ยังมีหุ้นที่ราคายัง laggard อาทิ KAMART, STA, SSP, BCPG, GUNKUL และ ธีมรับเลือกตั้ง เช่น PLANB

ภาวะตลาดหุ้นภาคเช้า ดัชนีปรับตัวลงแรงในช่วงแรกโดยลงมาต่ำสุดถึง 14 จุด ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้ Flow ต่างชาติไหลออก โดยนักลงทุนรอติดตามการประชุม กนง. โดยดัชนีในช่วงเช้าปิดที่ 1,605.12 จุด ลบ 5.46 จุด หรือ 0.34% มีมูลค่าการซื้อขาย 34,494 ล้านบาท

ติดต่อโฆษณา!