เงินเยนอ่อนค่าในรอบ 32 ปี ใกล้ 150 เมื่อเทียบดอลลาร์ จับตาญี่ปุ่นจะแทรกแซงตลาด FX หรือไม่
Highlight
ค่าเงินเยนเช้าวันนี้อ่อนค่าไปถึง 149.18 เยน ใกล้ระดับจิตวิทยา ที่ 150 เยน เทียบดอลลาร์ ตลาดเงินจับตาญี่ปุ่นจะแทรกแซงหรือไม่ หลังจากเงินเยนอ่อนค่าในรอบ 32 ปี ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าแม้ญี่ปุ่นจะแทรกแซงค่าเงินอีก แต่ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ก็จะทำให้เยนแข็งค่าได้ไม่นาน เช่นเดียวกับการแทรกแซงในรอบที่ผ่านมา ส่วนเงินสกุลอื่นรวมทั้งเงินบาทไทยอ่อนค่าเช่นกัน เนื่องจากคาดว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ อีก 2 ครั้งในปีนี้ และปลายปีไปอยู่ที่ 4.50-4.75% ด้านตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงนี้จากการเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/65
เงินเยนยังคงอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ในวันนี้ ล่าสุดร่วงลงทะลุ 149 เยน แตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปี ใกล้แนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 150 เยน ณ เวลา 23.24 น.ตามเวลาไทย เมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ดอลลาร์แข็งค่า 0.1% สู่ระดับ 149.18 เยน
นายชูนิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยรัฐบาลกำลังจับตาสถานการณ์ และพร้อมดำเนินมาตรการเร่งด่วน หากจำเป็น
“เงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เช้านี้ยังอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปี ตลาดเฝ้าระวังว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงเงินเยนอีกครั้ง ถ้าใกล้ 150 เยน/ดอลลาร์”
ด้านเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 0.9856 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 0.9836 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินบาทไทย อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 38.080 บาท/ดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในเดือน ก.ย. หลังจากเยนดิ่งลงแตะ 145.90 เทียบดอลลาร์ โดยใช้เงินมากถึง 7-8 แสนล้านบาท แต่ค่าเงินเยนอ่อนค่ากลับไปที่เดิมในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ขณะที่ตลาดจับตาความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจเข้าแทรกแซงตลาดครั้งใหม่
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญไม่คาดว่าการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีประสิทธิภาพในการหนุนค่าเงินเยนในระยะยาว ตราบใดที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ สวนทางธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นขยายกว้างขึ้นต่อไป
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์เกือบ 100% ที่ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.30% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.
หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ทั้งในเดือนพ.ย.และธ.ค. ก็จะส่งผลให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกัน 5 ครั้ง หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย. ก.ค. และก.ย.
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 38.07 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากปิดตลาดเย็นวานนี้ เนื่องจากเมื่อคืนนี้สกุลเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแบบผสมไร้ทิศทาง เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร
ทั้งนี้ ตลาดยังคงย่อยข่าวตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ออกมาดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน ตลาดพันธบัตรอังกฤษมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ขยับลง ภาพใหญ่ตลาดยังรอปัจจัยชี้นำใหม่
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 38.00 – 38.20 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันอาจผันผวน ช่วงนี้ต้องติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร ที่นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่องมาหลายวัน
ตลาดหุ้นโลกสดใสหลังบริษัทจดทะเบียนทยอยแจ้งผลประกอบการ Q3/65
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดแบบผสมผสานในวันนี้ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2565
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,225.17 จุด เพิ่มขึ้น 69.03 จุด หรือ +0.25%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 16,805.91 จุด ลดลง 108.67 จุด หรือ -0.64% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,073.26 จุด ลดลง 7.70 จุด หรือ -0.25%
“หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สอง แต่การซื้อขายค่อนข้างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนกำลังประเมินแนวโน้มผลประกอบการบริษัทและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น” นักวิเคราะห์ของบริษัทเอเอ็นซี รีเสิร์ช (ANZ Research) กล่าว
นายณรงค์เดช จันทรไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งขึ้นได้ต่อ ตาม Sentiment ตลาดต่างประเทศที่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวก ตอบรับการเปิดเผยผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ ออกมาดี รวมถึงบ้านเรา ก็ออกมาดีเช่นกัน ทำให้ลดความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
ตลาดหุ้นไทยคึกคัก จากการที่บริษัทจดทะเบียนแจ้งผลประกอบการดีเกินคาดในไตรมาสที่ 3/65 ที่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง โดยวันนี้จะเป็นการเปิดเผยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมทั้งความชัดเจนเกี่ยวกับงบน้ำท่วมกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และค่าเงินบาทที่เริ่มชะลอการอ่อนค่า ทำให้เงินทุนต่างชาติชะลอไหลออกได้บ้าง