SSF/RMF คู่หูลดหย่อนภาษี กองไหนดี กองไหนน่าลงทุน
Highlight
ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ถ้าหากพูดถึงกองทุนแล้ว คงหนีไม่พ้นกองทุนคู่หูลดหย่อนภาษีอย่างกองทุน SSF/RMF กันอย่างแน่นอน อย่าลืมว่ากองทุนลดหย่อนภาษี เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจึงแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นโลกที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างหลากหลาย กองทุนhealthcare และกองทุน infrastructure เป็นต้น
การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF นั้น ไม่เหมือนการลงทุนในกองทุนทั่วไป เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อเก็บออมและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงต้องมองภาพการลงทุนระยะยาว และต้องเลือกสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาวเช่นกัน โดยในระยะยาวมีธีมการลงทุนใดที่น่าสนใจ และผลตอบแทนของแต่ละกองเป็นอย่างไร มาหาคำตอบกัน
คุณธนัฐ ศิริวรางกูร หรือ หมอนัท คลินิกกองทุน กล่าวว่า กองทุนทั้งสองล้วนแล้วแต่เป็นกองทุนที่ต้องลงทุนระยะยาวตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร อย่างกองทุน SSF ก็ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี ส่วนกองทุน RMF เองก็ต้องซื้อต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี และถือให้ครบ 5 ปี จึงจะไม่ผิดเงื่อนไข ลงทุนแล้วได้ประโยชน์ทางภาษีแบบครบถ้วน
เงื่อนไขการลงทุนใน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการซื้อกองทุน SSF/RMF ต้องทำตามเงื่อนไขของกองทุน ดังต่อไปนี้
กองทุน SSF/RMF เริ่มต้นซื้อเท่าไหร่ก็ได้ไม่กำหนดขั้นต่ำ จะซื้อ 1 บาทก็เริ่มต้นลงทุนได้แล้ว และในแต่ละปีจะซื้อที่บลจ. ไหน กองทุนไหนก็ได้ ซื้อกี่กองทุนก็ได้ แต่ห้ามซื้อเกินกว่าที่กำหนดเท่านั้นเอง
- ยอดซื้อกองทุน SSF/RMF รวมกันทุกกองทุน จากทุกบลจ. ในปีที่ซื้อ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี เช่น รายได้ทั้งปี 500,000 บาท จะซื้อกองทุน SSF ได้ 150,000 บาท และกองทุน RMF ได้อีก 150,000 บาท รวมเป็น 300,000 บาท ที่สามารถนำไปลดภาษีได้
- กองทุน SSF จะซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท และกองทุน RMF 500,000 บาท
- เมื่อรวมกองทุน SSF + RMF + กองทุนเพื่อการเกษียณแบบอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน RMF เมื่อซื้อแล้ว ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากไม่มีกำหนดขั้นต่ำ ปีไหนเงินน้อย ซื้อ 1 บาท เพื่อรักษาสิทธิก็สามารถทำได้
- กองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ปีไหนอยากซื้อค่อยซื้อ หรือปีไหนภาษีเยอะค่อยซื้อก็ยังได้
- กองทุน SSF ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อแบบวันชนวัน ส่วนกองทุน RMF ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม และไม่ขายจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์
ดังนั้น การเลือกกองทุนทั้ง SSF/RMF จะมีแนวคิดที่ไม่เหมือนกับการเลือกกองทุนธรรมดาหรือกองทุนทั่วไป คือ ต้องมองการลงทุนเป็นภาพระยะยาว และเลือกสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งถ้าหากเราเลือกกองทุนถูกประเภท ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่อกองทุนที่เราถือนั้นครบอายุนั่นเอง
ในช่วงนี้ที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงมากขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยของทุกประเทศค่อย ๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์ลงทุนเกือบทุกชนิดปรับตัวลดลง แน่นอนว่าการลงทุนในช่วงนี้ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุน แต่ถ้าหากเรามองภาพระยะยาว แน่นอนว่าก็จะยังคงมีกองทุนที่สามารถลงทุนได้ และสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับเราได้
โดยถ้าหากเอากองทุน SSF/RMF ทั้งหมดมาเรียงต่อกัน กองทุนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนหุ้นในกลุ่มสุขภาพ หรือ กองทุน Healthcare ทั้งนี้ก็เพราะว่ากองทุนกลุ่มสุขภาพนั้น เป็นกองทุนที่มีความแข็งแรงทางธุรกิจ เป็นบริการหรือเป็นสินค้าที่จำเป็น รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การเติบโตในระยะยาวของกองทุนเหล่านี้มีความน่าสนใจ
อีกทั้ง กองทุนกลุ่มนี้ยังมีความทนทานต่อช่วงเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย ซึ่งก็ยังคงเติบโตได้เพราะว่าเป็นบริการหรือเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับทุกคน และค่ารักษาพยาบาลนั้นก็ยังคงปรับตัวตามเงินเฟ้อได้ รวมถึงผู้บริโภคก็มีอำนาจในการต่อรองน้อยอีกด้วย
คราวนี้เรามาดูสถิติผลตอบแทนในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็ปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งกองทุนทั่วไปส่วนใหญ่จะทำผลตอบแทนในระยะยาว (3 – 5 ปีย้อนหลัง) ได้ติดลบหรืออาจจะมีผลตอบแทนไม่สูงมากนัก แต่สำหรับกองทุนกลุ่ม Healthcare ยังคงทำผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนกองทุน SSF Healthcare นั้น เนื่องจากกองทุน SSF กลุ่มนี้ยังมีไม่มาก และอายุกองทุนส่วนใหญ่ยังไม่ถึง 3 ปี ดังนั้นกองทุน SSF Healthcare อาจจะต้องเลือกกองทุนเท่าที่มี และสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้นั้นก็คือ กองทุน UOBSHC-SSF
นอกจากกองทุนกลุ่มสุขภาพแล้ว กองทุนอีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน และนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทุกสภาวะตลาด รวมถึงลงทุนระยะยาวได้ตามเงื่อนไขของกองทุน SSF/RMF นั่นก็คือ กองทุนหุ้นโลก
เนื่องจากกองทุนหุ้นโลกนี้ เป็นกองทุนที่มีหุ้นที่หลากหลาย และช่วยเรากระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ส่วนการเติบโตนั้นส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่สูง เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นทั่วโลก แต่การเติบโตระยะยาวส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากตามหลักการแล้ว ตลาดหุ้นจะเติบโตไปกับการบริโภค และการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งถ้าดูจาก GDP เศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ เติบโตตามจำนวนประชากร และธุรกิจทั่วโลกที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และบางกองทุนก็อาจจะเน้นลงทุนในหุ้นที่รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นไปอีกได้จากนโยบายที่แตกต่างกันของกองทุนหุ้นโลกแต่ละกองทุน เรามาดูกันครับว่า กองทุนหุ้นโลก SSF/RMF กองทุนไหนน่าสนใจ
โดยในอันดับที่ 3 นั้นจะเน้นลงทุนใน Infrastructure หรือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจจะทำให้มีความผันผวนต่ำกว่ากองทุนหุ้นโลกกองอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นกองทุนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาวเช่นกัน
ส่วนกองทุน SSF เอง เนื่องจากยังมีผลตอบแทนย้อนหลังไม่มากเช่นเดียวกับกองทุนอื่น ๆ และด้วยภาวะการลงทุนที่หุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงมา ทำให้ผลตอบแทนที่ผ่านมายังคงติดลบอยู่พอสมควร โดยนักลงทุนต้องพิจารณาถึงนโยบายการลงทุนของกองทุนร่วมด้วย
ส่วนกองทุนกลุ่มสุดท้ายที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ และเป็นกองทุนที่น่าจะได้รับประโยชน์มากกว่ากองทุนอื่น ๆ ในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ซึ่งเราสามารถซื้อกองทุนกลุ่มนี้ได้ก่อนเลย ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนจะเป็นเช่นไร ก็คือ กองทุนตลาดเงินนั่นเอง
เพราะว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจนั้น เราเลือกลงทุนกองทุน SSF/RMF ที่มีความเสี่ยงต่ำก่อนได้ นั่นคือ กองทุนตลาดเงิน หรือ Money Market Fund ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ปลอดภัยมาก เน้นซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีไปก่อน รอให้พ้นภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นเมื่อไหร่ค่อยกลับมาลงทุนในกองทุนหุ้น SSF/RMF ก็ยังได้ เรามาดูกันครับว่า กองทุนตลาดเงิน กองไหนน่าสนใจ
ส่วนกองทุน SSF Money Market Fund ก็มีเพียงไม่กี่กองทุน ซึ่งกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีคือ กองทุน 1AM-DAILY-SSF
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำนักลงทุนว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น จะพิจารณาแค่ผลตอบแทนย้อนหลังเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ นักลงทุนต้องเข้าใจนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ รวมถึง พิจารณาค่าธรรมเนียมของกองทุนด้วยเสมอ เพราะผลตอบแทนอาจจะดี แต่หากค่าธรรมเนียมแพงมากก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมในระยะยาวของนักลงทุนไม่ดีเท่าที่ควรได้
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่ากองทุน SSF/RMF สามารถสับเปลี่ยน โอนย้ายข้ามบลจ. ได้ตลอด ดังนั้น ก่อนปลายปีนี้รีบซื้อกองทุน SSF/RMF กันได้แล้ว เพื่อให้ทันการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, SET Investnow