วงการโบรกเกอร์ป่วน ก.ล.ต.สั่ง บล.เอเชีย เวลท์ หยุดทำธุรกิจชั่วคราว หลังพบนำเงินลูกค้าไปชำระค่าซื้อหุ้น
Highlight
วงการตลาดหุ้นยังปั่นป่วน หลังจากนักลงทุนคนหนึ่งส่งคำสั่งซื้อหุ้น มอร์ รีเทิร์น เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 แต่กลับไม่ชำระเงินค่าหุ้น ทำให้โบรกเกอร์กว่า 10 รายต้องรับภาระจ่ายเงินแทน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบอย่างเข้มข้น เมื่อวานนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า บล.เอเชีย เวลท์ นำเงินลูกค้าไปชำระค่าหุ้น 157.99 ล้านบาทโดยไม่ได้รับความยินยอม จึงถูกสั่งระงับการประกอบธุรกิจชั่วคราว เช้าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ แถลงข่าวด่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และย้ำว่ามีเพียงบริษัทหลักทรัพย์เดียวที่พบการกระทำผิดในขณะนี้
ก.ล.ต. มีคำสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ระงับการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2022 หลังตรวจพบว่า บริษัทมีการนำเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินการดังกล่าว เป็นจำนวนเงิน 157.99 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัท
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีการประชุมและเห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชนได้ จึงมีมติโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด นำเงินของลูกค้าที่บริษัทนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่ลูกค้าไม่ได้อนุญาต มาคืนภายในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565
ระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยกเว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของบริษัทหรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะนำเงินลูกค้ามาคืน และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ
จัดให้มีระบบงานในการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ภายในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของบริษัท เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่มีอยู่กับบริษัทได้ตามความประสงค์ของลูกค้า ภายในระยะเวลาที่ตกลงกับลูกค้า
นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก.ล.ต. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ได้สั่งการให้บริษัทงดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ด้วย เว้นแต่เป็นการซื้อขายเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีฐานะอยู่เดิม จนกว่าบริษัทจะนำเงินลูกค้ามาคืน และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ แถลงข่าวด่วนร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมว่าในกรณีดังกล่าว ดังนี้
ข้อมูลประกอบการแถลงกรณีการระงับการประกอบธุรกิจ บล. เอเชีย เวลท์
1. สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่าได้สั่งให้ บล. เอเชีย เวลท์ หรือ AWS หยุดการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบว่าบริษัทนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอม
2. จากคำสั่งของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งระงับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จาก AWS เป็นการชั่วคราว ในส่วนของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็จะอนุญาตให้เฉพาะคำสั่งซื้อขายที่เป็นการล้างสถานะที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ จนกว่าสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
3.ในส่วนของหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นกับ AWS ได้ แต่ผู้ลงทุนสามารถขอโอนหุ้นที่ฝากกับ AWS ไปฝากยังบัญชีของตนที่เปิดกับโบรกเกอร์อื่นเพื่อซื้อขายต่อได้ กรณีไม่มีบัญชีที่โบรกเกอร์อื่นสามารถโอนเข้าบัญชี Issuer Account (600) ที่ TSD ได้ และเมื่อเปิดบัญชีที่บริษัทหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้วก็สามารถที่จะโอนหุ้นจากบัญชี 600 ไปซื้อขายต่อไป
4. ในส่วนของอนุพันธ์ ลูกค้าสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อปิดสถานะได้เท่านั้น ไม่สามารถเปิดสถานะได้ หากลูกค้าปิดสถานะแล้ว ลูกค้าก็สามารถที่จะขอถอนหลักประกันออกไปได้ตามปกติ กรณีลูกค้าไม่ประสงค์จะปิดสถานะแต่ต้องการโอนไปซื้อขายต่อที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ตนมีบัญชีอยู่ก็สามารถแจ้งต่อบริษัทหลักทรัพย์ได้เช่นกัน
5. เหตุการณ์นี้ เป็นเหตุเฉพาะรายบริษัทหลักทรัพย์ AWS เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์อื่นยังให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ มีการติดตามฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 มีการส่งคำสั่งซื้อหุ้น มอร์ รีเทรินด์ หรือ MORE จากนักลงทุนรายหนึ่งผ่านโบรกเกอร์ กว่า 10 ราย และผิดนัดชำระค่าหุ้น ทำให้โบรกเกอร์ต้องชำระแทน ความเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของหลายหน่วยงาน รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า แม้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ความเสียหายราวหมื่นล้านบาท ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดหลักทรัพย์
“สำหรับผมคือการโกงอย่างหนึ่ง ทำให้บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งเตรียมตัวไม่ทัน เพราะไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่อยากให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นทุกฝ่ายกำลังแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเตรียมการป้องกันปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต” นายภากรกล่าว
นอกจากนี้ทางตลาดอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆเพื่อส่งต่อไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ปอศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามที่ทั้งสองหน่วยงานขอความร่วมมือมาภายในบ่ายวันนี้
ทั้งนี้ ทางฝ่ายหน่วยงานตำรวจและปปง. มีอำนาจในในการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินและการตรวจสอบเชิงลึกได้
ทางด้านนายพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ไม่ทราบว่า บล.เอเชีย เวลล์ นำเงินลูกค้าไปชำระค่าหุ้น MORE หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีการทำงานอย่างมืออาชีพ