สารัชถ์ รัตนาวะดี รวย 2.19 แสนล้านบาท ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 4 ปีซ้อน ขณะที่ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2565
Highlight
สารัชถ์ รัตนาวะดี” ครองหุ้นกัลฟ์ (GULF) ขึ้นแท่นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 รวย 2.19 แสนล้านบาท ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 4 ปีซ้อน “ปณิชา ดาว” กลุ่มทุนจาก สปป.ลาว ครองอันดับ 2 ถือหุ้นพีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) รวมมูลค่า 8.16 หมื่นล้านบาท “หมอเสริฐ” นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นั่งเศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ถือหุ้นบางกอกแอร์เวย์ส (BA) - กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) รวมมูลค่า 6.27 หมื่นล้านด้านวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2565
วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 29 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศ ที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรก ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565
สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 218,981.58 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 45,881.86 ล้านบาท หรือ 26.51% ซึ่ง สารัชถ์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55%
หากย้อนรอยความมั่งคั่งของแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 4 สมัย สารัชถ์ ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยครั้งแรกเมื่อปี 2562 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปีที่ 2 ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 115,289.99 ล้านบาท และทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปีนี้ความมั่งคั่งของสารัชถ์พุ่งทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยคนแรก ที่มีความมั่งคั่งในระดับ 2 แสนล้านบาท
เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ในปีนี้ ได้แก่ ปณิชา ดาว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 81,630.58 ล้านบาท PSG เดิมชื่อ บมจ.ที เอ็น จิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น หรือ T ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารโรงงาน คลังสินค้า อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัย โรงพยาบาล รวมถึงงานสาธารณูปโภค และงานติดตั้งเครื่องจักรต่างๆ มากว่า 40 ปี ต่อมาในวันที่ 12 ตุลาคม 2564 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งใหญ่ โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 54,044 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาหุ้นละ 0.02 บาท
ซึ่งกลุ่มทุนจาก สปป.ลาว นำโดย ปณิชา ดาว ภรรยาของ เดวิด แวน ดาว ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท พีที จำกัดผู้เดียว (PTS) ที่ถือหุ้นใน บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ที่ สปป.ลาว เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น หรือ PSG มี แวน ฮวง ดาว นั่งเป็นประธานกรรมการ และ เดวิด แวน ดาว เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ตกจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 62,735.68 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 4,517.85 ล้านบาท หรือ 7.76% หุ้นที่หมอเสริฐถือครอง ประกอบด้วย บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท, เปาโล ในสัดส่วน 12.77% และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 11.38%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ลดจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว โดยนิติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกใน 8 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 58,124.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,870.84 ล้านบาท หรือ 3.33%
เศรษฐีหุ้น อันดับ 5 ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลดจากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว โดยหุ้น EA ที่ถือครองในสัดส่วน 11.05% มีมูลค่ารวม 36,366.27 ล้านบาท รวยลดลง 16,660.08 ล้านบาท หรือ 31.42%
เศรษฐีหุ้น อันดับ 6 ได้แก่ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ กลับเข้ามาติดทำเนียบ TOP 10 เศรษฐีหุ้นไทย จากอันดับ 21 เมื่อปีที่แล้ว
นอกเหนือจากหุ้น BDMS ที่ถือในสัดส่วน 5.08% และ BA 6.49% แล้ว ปีนี้ปรมาภรณ์ยังถือหุ้น บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) หุ้นน้องใหม่ IPO ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นอีก โดยถือหุ้น ONEE สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 40.04% ส่งผลให้ปีนี้ความมั่งคั่งของ ปรมาภรณ์ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,001.87 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 20,950.06 ล้านบาท หรือ 149.09%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 และ 8 ได้แก่ สองเศรษฐีหุ้นเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดย ชูชาติ เพ็ชรอำไพ อยู่ในอันดับ 7 ตกจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.49% และหุ้นของอีก 5 บริษัทรวมมูลค่าทั้งสิ้น 26,518.07 ล้านบาท ลดลง 15,133.90 ล้านบาท หรือ 36.30% ส่วน ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ปีนี้อยู่ในอันดับ 8 จากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.96% มูลค่า 26,100 ล้านบาท ลดลง 15,840.00 ล้านบาท หรือ 37.77%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ อนันต์ อัศวโภคิน บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แบรนด์ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” โดยขยับขึ้นมาจากอันดับ 12 เมื่อปีที่แล้ว โดยอนันต์ถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ในสัดส่วน 23.93% มูลค่า 25,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,717 ล้านบาท หรือ 11.95%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โดยหุ้นที่คีรีถือครองมีมูลค่ารวม 22,702.45 ล้านบาท ลดลง 1,929.78 ล้านบาท หรือ 7.83% ประกอบด้วย หุ้น BTS 20.23% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) 2.14% และ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) 4.31%
สำหรับแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทย ปีนี้ ตระกูลรัตนาวะดี ก้าวขึ้นเป็น แชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ด้วยการทำสถิติใหม่มีความมั่งคั่งสูงถึง 218,981.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,881.85 หรือ 26.51% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปีนี้
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี’ 65
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ประกาศรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติให้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2565 ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี Financier of the Year มาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2525 ในชื่อเดิมของรางวัล “นายธนาคารแห่งปี” เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่นที่มีผลงานโดดเด่น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืน ในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรางวัลนักการเงินแห่งปี ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาว่าเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ
สำหรับปี 2565 คณะกรรมการตัดสินรางวัล “นักการเงินแห่งปี” มีมติเอกฉันท์มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี 2565 Financier of the Year 2022 ให้กับ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ด้วยผลงานที่โดดเด่นผ่านคุณสมบัติการเป็นนักการเงินแห่งปีตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน คือ
- เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย 2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ 3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตและยั่งยืนให้กับองค์กร 4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเป็นนักการเงินแห่งปีคนที่ 31 ของ วารสารการเงินธนาคาร
จากวันแรก 1 กรกฎาคม 2563 ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายวิทัย รัตนากร ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับบทบาทธนาคารออมสินมุ่งสู่การเป็น “Social Bank” หรือ “ธนาคารเพื่อสังคม” เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการทำธุรกิจ Dual Track แบบสมดุลทั้งภารกิจเชิงพาณิชย์ (Commercial) เพื่อสร้างกำไรมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม (Social)
โดยภารกิจแรกในการเดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อสังคม คือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เป้าหมายแรกคือการเข้าไปแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในนามบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ไปแล้วจำนวน 1.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 28,000 ล้านบาท และสามารถกดโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปีให้เหลือ 16-18% ต่อปี
ภารกิจต่อมาคือ การเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการออก “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยมีแนวคิดในการเป็นตัวเลือกที่ยุติธรรมให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เป็น SMEs สามารถใช้โฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนจากสัญญาขายฝากที่ทำไว้
หลังจากประสบความสำเร็จจากการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่เปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ภายในระยะเวลา 2 ปี ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว 21,254 ล้านบาท จึงเกิดเป็นแนวคิดการจัดตั้ง บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เข้าทำธุรกิจแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อผลักดันให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลดโครงสร้างดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม พร้อมช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจ Non-Bank ในปี 2566 เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลสูงเกินไป เป้าหมายของการเข้าไปดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงมามากว่า 5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 25% ต่อปี
นายวิทัยมองว่า สิ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายก็คือ Digital Banking ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนงานของสาขาได้เป็นอย่างดี ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ๆ บนแอปพลิเคชั่น MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending บริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) การปรับแผนชำระหนี้ การตรวจสอบข้อมูล Credit และ Credit Scoring เป็นต้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับบทบาทเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ภายใต้การนำของนายวิทัย ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ ถึง 47 โครงการ ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้ว 13 ล้านคน และปล่อยสินเชื่อกว่า 6.8 ล้านราย วงเงิน 1.66 ล้านล้านบาท
ธนาคารยังได้วางแผนพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ต โฟนด้วยแอปพลิเคชั่น MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic อย่างเต็มรูปแบบ โดยเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับรายเล็ก หรือ Micro Finance ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 30,000 ล้านบาท และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า 5.5 แสนราย จากที่มีลูกค้าใช้ MyMo รวม 13 ล้านราย
ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินยังสามารถรักษาการเติบโตของผลประกอบการได้ย่างต่อเนื่อง โดย ณ เดือนตุลาคม 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 23,997 ล้านบาท คาดการณ์กำไรทั้งปี 2565 ที่ 27,200 ล้านบาท สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนเงิน 17,349 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง
ขณะที่ธนาคารมีสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท เงินฝาก 2.57 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 2.23 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ที่ 2.71% ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 168.86% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) และเงินสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มเงินกันสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ณ ตุลาคม 2565 จำนวน 44,063 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 39,988 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีเงินสำรองเพียง 4,075 ล้านบาท