13 ธันวาคม 2565
906

สรรพากร ย้ำชัด! เก็บภาษีขายหุ้นแน่ เริ่มเดือนแรก พ.ค. 66

สรรพากร ย้ำชัด! เก็บภาษีขายหุ้นแน่ เริ่มเดือนแรก พ.ค. 66
Highlight

เมื่อประเทศขาดดุลย์งบประมาณ ทุกครั้งจะมีการพูดถึงการจัดเก็บภาษีหุ้น แต่ไม่เคยมีครั้งใดทำได้สำเร็จ ในครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า กระทรวงการคลังในยุคของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อาจจะสร้างประวัติศาสตร์เก็บภาษีจากการขายหุ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เพราะคาดว่า ร่างกฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน ม.ค. 66 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 พ.ค 66 แม้ว่าสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์ และบรรดาโบรกเกอร์จะคัดค้านก็ตาม


นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่า ร่างกฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน ม.ค. 66 และเริ่มเก็บภาษีได้ในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดไป น่าจะเป็นวันที่ 1 พ.ค. 66 ซึ่งระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายไว้ระบุไว้ทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการเว้นช่วงเวลา โดยไม่เก็บภาษีทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น เพราะต้องการให้โบรกเกอร์และผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมระบบในการซื้อขายและการหักภาษี เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรเชื่อมั่นว่า ตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวได้ในไม่ช้า ไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่นักลงทุนกังวลมากเกินไป

ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อย่างไรก็ดี ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมามากกว่า 30 ปี ซึ่งการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

สำหรับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น แบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้

ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66

ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่

1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

2. สำนักงานประกันสังคม

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

7. กองทุนการออมแห่งชาติ 

8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น

เอเชีย พลัส ชี้ผลกระทบ 5 ด้านจากการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น

ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ก่อนค่าธรรมเนียมสูงกว่าปัจจุบันมาก) จะทำให้นักลงทุนมีภาระค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นถึง 64%

ช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก

ช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะถดถอย (Recession) หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ ทำให้เสน่ห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงไป

นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมสูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจาก ต่างชาติซื้อขายหุ้นไทย 8.40 ล้านล้านบาทในปีนี้ แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย รวมทั้งส่วนของ NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามีอัตราหมุนเวียนในการซื้อขายสูงถึง 150% ต่างกับนักลงทุนไทยทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทยต่อปีสูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยสูงถึง 71.8% หรือ 14.2 ล้านล้านบาท

สถิติในปี 2554-2565 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูล Histogram Turnover ของ SET เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่า +1SD ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับปกติ (ช่วง -1SD ถึง +1SD) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ 5.6% ต่อปี แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า -1SD (Turnover 59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9% 

ติดต่อโฆษณา!