เงินบาทแข็งค่าในรอบ 9 เดือน จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้าไทย หลังการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
Highlight
เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน อานิสงส์เงินไหลเข้าทั้งจากนักท่องเที่ยวลงและการลงทุน โดยเข้าลงทุนในบอนด์ระยะสั้นเมื่อเร็วๆนี้กว่า 1.65 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้มีการขายทองคำออกมาจำนวนมาก หลังจากราคาทองคำใกล้แตะระดับล 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีการขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ หนุนเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือ “เฟด”จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง ทำให้เกิดภาวะ “Risk on” โดยเงินทุนจะไหลไปยังตลาดที่เติบโตสูง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย รวมทั้งหุ้นเทคฯของสหรัฐ บล.ดาโอเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากบาทแข็งค่า ได้แก่ AAV, BGRIM, TOP, SYNEX
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้น ได้แรงหนุนหลักมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทย อาทิ บอนด์ระยะสั้น ที่มียอดซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 16.5 หมื่นล้านบาท ในวันก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน นายพูนกล่าว
ทั้งนี้เงินบาทยังพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง หากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องระวังในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงวันศุกร์ (รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาดไปมาก
นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ได้บ้าง หลังเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญใหม่ แถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ นายพูนกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก สำหรับกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ นายพูนกล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าสุดในรอบ 9 เดือนตามทิศทางแรงเทขายสกุลเงินดอลลาร์ หลังตลาดคาดการณ์เฟดจะชะลอขนาดขึ้นดอกเบี้ย-ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางแรงขายเงินสกุลดอลลาร์ จากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมรอบแรกของปีนี้ ซึ่งสวนทางกับเงินเยนที่ตลาดเริ่มคาดหวังมากขึ้นว่า อาจเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้
นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) และการแข็งค่าของเงินหยวนที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากการทยอยเปิดประเทศ
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนธ.ค.ของยุโรป
รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนพ.ย. ดัชนี PMI /ISM ภาคบริการเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟด
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ค่าเงินบาท (Thai baht) ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หรือแข็งค่าขึ้นราว +11% จากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 22 ที่ THB38.55/1USD จากความคาดหวังเฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบแรกของปีนี้
สำหรับ หุ้นที่จะได้ประโยชน์จากเงินบาทกลับมาแข็งค่าและมีโอกาส outperform SET ได้มากสุดฝ่ายวิจัยเลือก AAV, BGRIM, TOP, SYNEX