10 มกราคม 2566
884

ส่องหุ้นได้ประโยชน์ จากเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย

ส่องหุ้นได้ประโยชน์ จากเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย
Highlight

ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ ที่ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเคลื่อนไหววันนี้ อยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell คาดการชะลอเร่งขึ้นดอกเบี้ย โบรกเกอร์แนะลงทุนหุ้นได้ประโยชน์จากบาทแข็งค่า สายการบิน โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม พลังงาน กลุ่มสินค้านำเข้า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินสถานการณ์ เงินบาทแข็งค่า และเงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ไว้ดังนี้

1. ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามความหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปเป็น 80%)

2. ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันนี้(10 ม.ค) รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นและยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงไปมาก ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.08%

3. ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้นกว่า +0.88% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนโดย Sentix ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของเยอรมนี (Industrial Production) เดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัวดีกว่าคาด

4. ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักที่คลี่คลายลง ได้หนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรง อาทิ ASML +6.4%, Adyen +3.2%

5. ด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.53% จากระดับ 3.88% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา

6. ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยดังกล่าว

7. ฝั่งเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 103 จุด อีกครั้ง

8. การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาใกล้ระดับ 1,874 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควร

9. สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งธนาคารกรุงไทยมองว่า หากในช่วงนี้ ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากความหวังว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ประธานเฟดก็อาจพยายามปรับลดความคาดหวังดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ด้วยการส่งสัญญาณเน้นย้ำจุดยืนว่า เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

10. นอกจากนี้ ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้ ถ้อยแถลงของประธานเฟดนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) Haruhiko Kuroda ว่าจะมีการเปิดเผยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของ BOJ อย่างไรบ้าง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOJ อาจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในปีนี้ (ตลาดมอง BOJ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ +0.10% ราว 2 ครั้งในปีนี้) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนในฝั่งแข็งค่ามากขึ้น

11. สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า แรงหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเป็นปัจจัยเดิม ทั้ง ความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งสะท้อนผ่านแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงความหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

12. บรรยากาศในตลาดอาจเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ในช่วงทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งคาดว่า ประธานเฟดจะเน้นย้ำจุดยืนความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่คงไม่มากนักเพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ นี้

13. ประเมินว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Down (ทยอยแข็งค่าขึ้นได้) โดยจะมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวรับเบื้องต้นจะอยู่ในช่วง 33.25-33.30 บาทต่อดอลลาร์


ส่องหุ้นได้ประโยชน์จากบาทแข็งค่า

บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากทิศทางเงินบาทแข็งค่าขึ้น คือหุ้นที่มีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 

1. หุ้นกลุ่มสายการบิน เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่มีการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศสูง  ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ เคยทำแบบประเมินว่าทุกๆ 5% ที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้หุ้นในกลุ่มสายการบินมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50%  ซึ่งแนะนำหุ้นบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น  (AAV)

2. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นอีกกลุ่มที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศสูง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้ามีการขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น หุ้นที่แนะนำและได้ประโยชน์เชิงบวกจากเงินบาทแข็งค่าบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)  , บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 

3. หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่มีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศสูง แนะนำ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) , บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และ 4.กลุ่มนำเข้าสินค้า แนะนำหุ้นที่ได้รับประโยชน์ บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย)(TOA) ,บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) , บมจ.ซาบีน่า (SABINA) , บมจ.ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์(JUBILE) , บมจ.เจ มาร์ท (JMART) , บมจ. คอมเซเว่น (COM7)


มุมมองจาก บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ 

1. สายการบินซึ่งมีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินดอลลาร์ราว 60% เมื่อเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง โดยมี AAV เป็น Top Pick โดยบริษัทมีหนี้เป็นดอลลาร์ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 บาท จะทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 1 พันล้านบาท และยังได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2565 มีโอกาสพลิกมีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส

2. กลุ่มโรงไฟฟ้าเนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามรายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชี ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด เลือก BGRIM เป็น Top Pick โดยบริษัทมีหนี้เป็นดอลลาร์ราว 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า จะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 350 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 คาดฟื้นตัว QoQ จากการรับรู้ปัจจัยบวกปรับค่า Ft เต็มไตรมาส

3. กลุ่มพลังงานมีหุ้น Top Pick ได้แก่ TOP ซึ่งมีหนี้สกุลดอลลาร์ 78% ของหนี้ทั้งหมด ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเมื่อรวมผลกระทบจากการทำประกันความเสี่ยง (Hedging) แล้ว ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 400-500 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 จะฟื้นตัว QoQ จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและราคาน้ำมันดิบ (crack spread) ที่ฟื้นตัวและขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง

4. กลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าไอทีมี SYNEX เป็น Top Pick เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าโดยใช้เงินดอลลาร์ เมื่อเงินบาทแข็งค่า ต้นทุนสินค้าจะถูกลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอาหาร, กลุ่มเกษตร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!