20 มกราคม 2566
1,699

Virtual Bank คืออะไร บริษัทยักษ์ใหญ่พากันจับมือขอใบอนุญาต กรุงไทย-AIS-GULF, SCBX, JMART

Virtual Bank คืออะไร บริษัทยักษ์ใหญ่พากันจับมือขอใบอนุญาต  กรุงไทย-AIS-GULF, SCBX, JMART
Highlight

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์แบบไร้สาขา หรือที่เรียกว่า “Virtual Bank”เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสามารถนำผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินให้เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่  สำหรับหลักเกณฑ์ต่างๆ จะทยอยออกประกาศตามมา พร้อมเปิดรับสมัครคำขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในปี 2566 นี้ และประกาศผลผู้ได้รับใบอนุญาตปีหน้า กลุ่มธุรกิจสนใจจับมือร่วมกันขอใบอนุญาต เช่นกลุ่ม AIS-GULF-กรุงไทย, กลุ่มSCBX และ JMART เป็นต้น

Virtual Bank เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

  • ภาคการเงินไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกการเงินดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมามีผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) เริ่มปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

 

  • แต่ยังมีผู้ใช้บริการรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินที่เหมาะสม (อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือธุรกิจขนาดเล็ก) และบางกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินด้วยช่องทางดิจิทัลบ้างแล้วแต่ยังสามารถพัฒนาให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบวงจรและสะดวกมากขึ้น

 

  • ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้วางทิศทางด้านการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ (digital) ซึ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

 

หนึ่งในแนวนโยบายสำคัญ คือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ

 

เป้าหมายสำคัญของ Virtual Bank

 

  • เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลที่หลากหลาย และบริการดิจิทัล เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • สามารถลดต้นทุนพนักงาน อาคารและสถานที่

 

  • ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและ SMEs กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม และกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินด้วยช่องทางดิจิทัลบ้างแล้วให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างครบวงจรและสะดวกมากขึ้น

 

  • โดยประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืนและไม่กระตุ้นการแข่งขันจนอาจก่อให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว หรือใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสมจนอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้บริโภคในวงกว้าง

 

เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่เป็นไปตามเป้าหมายข้างต้น กล่าวคือ Virtual Bank ที่เข้ามาพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไป (responsible innovation) ธปท. จึงได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งและกำกับดูแล Virtual Bank โดยมีสาระสำคัญ คือ

 

  1. ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้ Virtual Bank มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้
  2. ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย
  3. ให้ Virtual Bank ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture)
  4. ให้ Virtual Bank ดำเนินกิจการในช่วงแรก (phasing) ตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ

 

ทั้งนี้ ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อที่จะได้นำไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank (หลักเกณฑ์ฯ) นำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

โดยคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ฯ พร้อมเปิดรับสมัครคำขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในปี 2566 ประกาศผลผู้ที่ได้รับคัดเลือกและได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ภายในปี 2567


ล่าสุด ธปท.ประกาศเปิดให้ใบอนุญาต 3 ราย ทุนขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ได้เปิดเผยถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ระยะเริ่มต้น จะเปิดให้ขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ได้ไม่เกิน 3 ราย

 

สำหรับคุณสมบัติในการจัดตั้ง Virtual Bank ประกอบด้วย 7 ข้อคือ

  1. ธุรกิจต้องมี Business Model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน
  2. มีธรรมาภิบาล ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่กรรมการ ผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล
  3. มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออก แบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
  4. มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น คล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว
  5. มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินสามารถดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืนไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
  6. มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม
  7. มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท (ณ วันเปิดกิจการ) กรณีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ

 

ส่วนรูปแบบของ Virtual Bank ของไทยนั้นมี 5 คุณลักษณะคือ

  1. เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย
  2. ให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบ โดยเน้นรายย่อยไม่มีหลักประกัน สินเชื่อ SMEs และเงินฝากที่ยังไม่สามารถรับบริการทางการเงินอย่างพอเพียงและเหมาะสม
  3. ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก (ไม่มีสาขาของตนเอง)
  4. มีความเป็นเลิศ ทั้งด้านเทคโนโลยีการใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อพัฒนาและให้บริการทางการเงิน
  5. มีธรรมาภิบาลสามารถบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้

 

ธปท.คุมเข้ม 3 ความเสี่ยง

นายธาริฑธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบการกำกับดูแลตามความเสี่ยง Virtual BanK จะใช้เป็นกรอบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่จะมีความเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล วัฒนธรรมด้านความเสี่ยงรวมถึง 3 ประเด็นคือ

 

  1. ความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบไอที ต้องมีความมั่นคง มีความเสถียรของระบบไอที เช่น ระบบขัดข้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปีและถ้าระบบสะดุดต้องกู้ระบบได้ภายใน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
  2. ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เชื่อเมื่อเกิดระบบสะดูด ผู้ให้บริการต้องมีแผนดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง(BCP) เพื่อรับมือฉุกเฉิน เพื่อให้ลูกค้าใช้ช่องทางอื่นได้
  3. การใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก

“ช่วงเฟส 3-5 ปีผู้ให้บริการ ต้องดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดำเนินกิจการอย่างมั่นคงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ หากผ่านเงื่อนไขแล้วธปท.จะลดความ เข้มข้นในการติดตามและให้ออกจากเฟส เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาสามารถดำเนินการต่อไป แต่กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไข ก็ต้องปิดกิจการตามกระบวน การที่ได้เสนอมาตั้งแต่ขั้นตอนสมัครแล้ว”นายธาริฑธิ์กล่าวสรุป

 

ผู้สนใจแล้ว 10 ราย

นางสาววิภาวิน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาสอบถามการจัดตั้ง Virtual Bank แล้วกว่า 10 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นต่างชาติจำนวน 3 ราย

โดยผู้สนใจขอจัดตั้ง Virtual Bank มีความหลากหลายทั้งแบงก์ นอนแบงก์ โดยสามารถขอใบอนุญาตได้ทั้งมาขอเดี่ยวหรือจับมือพันธมิตรและต่างชาติ

 

  • กรณีเป็นต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% แต่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะต้องเข้ามาขออนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสามารถผ่อนปรนได้ไม่เกิน 49% สำหรับ

 

  • Virtual Bank แตกต่างกับธนาคารปกติตรงที่ ไม่มีสาขา ไม่มีตู้กดเงิน (ATM) หรือตู้ฝากถอน (CDM)

 

  • ยังกำหนดให้กรณีระบบขัดข้องต้องห้ามเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และการแก้ไขต้องทำได้ภายใน 2 ชั่วโมง

 

  • โดยคาดว่าเปิดบริการได้กลางปี 2568

 

ยักษ์ใหญ่ธุรกิจในประเทศ ประกาศจับมือจัดตั้ง Virtual Bank

 

  • เอไอเอส และกัลฟ์ ประกาศจับมือธนาคารกรุงไทย ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ธนาคารกรุงไทย ศึกษาโมเดลธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งมีความได้เปรียบในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีลูกค้าหลายล้านรายในมือ

 

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในวงการทราบกันดีว่ากลุ่ม ซี.พี. สนใจและต้องการขยายบริการธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่ากลุ่ม ซี.พี.จะจับมือกับพันธมิตรรายใด หรือจะเลือกดำเนินการเองกับ TRUE ทั้งนี้กลุ่ม ซี.พี.มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศเกือบ 14,000 สาขา เพื่อรองรับการสนับสนุนบริการของ virtual bank ได้เป็นอย่างดี

 

  • SCBX นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ยอมรับว่ามีความสนใจ Virtual Bank ภายหลังจาก ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การจัดตั้งชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ตามกรอบเวลาของ ธปท.จัดตั้ง Virtual Bank ใช้เวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยังมีเวลาในการตัดสินใจและหาพันธมิตร

 

  • JMART นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ในฐานะ Technology Investment Holding Company ขานรับการทำแผนธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น Virtual Bank ย้ำในฐานะผู้นำด้านค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี สู่ผู้นำโลกการเงินดิจิทัล สามารถนำเทคโนโลยีสนับสนุนโลกการเงินด้านฟินเทค เพื่อให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร

 

 

อ้างอิง : ข้อมูลบางส่วนจากธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/landscape/virtual-bank/

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

 

ติดต่อโฆษณา!