15 กุมภาพันธ์ 2566
816
เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. สูงกว่าตลาดคาด กดดัน Fed ขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
Highlight
สหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน ม.ค.66 อยู่ที่ 6.4% เป็นการชะลอตัวลงครั้งที่ 7 ติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี และต่ำกว่าจุดสูงสุดล่าสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายนปี 2021แต่ยังคงห่างไกลเป้าหมายของ Fed ที่ 2% และรอบนี้ก็ยังคงสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.2% ตลาดหุ้นปรับลดลงรับข่าว ราคาสินค้าต่างๆยังคงสูงลิ่ว นักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในเดือน มี.ค.และ พ.ค.
รายงานข่าวจาก AP ระบุว่าแม้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงสูงกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ไว้
- จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนค่าเช่าบ้านยังคงเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยกดดันด้านราคาอยู่ในเวลานี้
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI เมื่อวานนี้ (14 ม.ค) พบว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ที่รวมสินค้าอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ 6.4% ลดลงจากเดือนธันวาคมก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 6.5%
- นับเป็นการชะลอตัวครั้งที่ 7 ติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี และต่ำกว่าจุดสูงสุดล่าสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายนปี 2021 แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปีของ Fed ที่ 2% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.2%
- ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.5% ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้น 0.1% ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยปัจจัยหลักจากค่าน้ำมัน อาหาร และเสื้อผ้าที่แพงขึ้น ดันให้ตัวเลขของเดือนมกราคมแล้วสูงขึ้น
- ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ
- การที่ราคาสินค้าและอาหาร รวมถึงค่าเช่าบ้านยังแพงขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า
- โดยผลสำรวจจาก FedWatch Tool ชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกประมาณ 3 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50%
- ราคาอาหารพุ่งขึ้น 0.5% ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ท้าทายความหวังเงินเฟ้อชะลอตัว โดยผลิตภัณฑ์ธัญพืช ขนมปังมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ราคาไข่พุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนมกราคมและพุ่งสูงขึ้น 70% ในปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่ทำลายชีวิตไก่จำนวนมาก
- ทิศทางเงินเฟ้อส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลง นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน
- เมื่อ 14 ก.พ. Dow Jones Industrial Average ปรับตัวลดลง 156.66 จุด หรือ 0.46% ปิดที่ 34,089.27 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 1.16 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 4,136.13 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 68.36 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 11,960.15 จุด
- SET Index เมื่อเวลา 15.04 น. (15 ก.พ.) ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,646.58 จุด -6.18 จุด (-0.37%) มูลค่าการซื้อขายรวม 90,492.05 ล้านบาท
- KKP Research ระบุว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังสูงกว่าที่ตลาดคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค. ปรับตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ส่วนดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ปรับตัวขึ้น 5.6% YoY และ 0.4% MoM และยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เช่นกัน
- ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญภายในที่ของเงินเฟ้อโดยเฉพาะราคาพลังงานและที่อยู่อาศัยยังคงเร่งตัวอยู่และทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงร้อนแรงเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะชะลอลงได้ไม่ง่ายแบบที่คาดไว้
- หนุนให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปและอาจขึ้นมากกว่าที่ตลาดเคยคาดสะท้อนจากที่ล่าสุดตลาดมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ terminal rate สูงกว่า 5% โดยอาจขึ้นไปสูงได้ถึง 5.25-5.50% (อ้างอิงจาก FedWatch Tool ของ CME Group) สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่ Fed ได้สื่อสารมาตลอดว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อยังคงจำเป็นต่อไป
ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ
🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC