16 มีนาคม 2566
623

ตลาดหลักทรัพย์ย้ำวิกฤตเครดิตสวิส มีผลกระทบน้อย ธนาคารไม่ได้ถือตรงหุ้นไทย

ตลาดหลักทรัพย์ย้ำวิกฤตเครดิตสวิส มีผลกระทบน้อย ธนาคารไม่ได้ถือตรงหุ้นไทย
Highlight

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแถลงด่วนเกาะติดวิกฤต Credit Suisse (CS) ย้ำไม่กระทบตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก CS ไม่ได้ลงทุนตรงเพียงแต่ถือหุ้นให้ลูกค้าเท่านั้น  เชื่อว่าทางการสวิสรับมือได้และได้เข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแล้ว ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดหุ้นยังผันผวนสูงในปัจจุบัน นักลงทุนจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้านบริษัทจัดการลงทุนยันมีผลกระทบน้อย


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  กล่าวว่า  ธนาคารเครดิตสวิง (CS) มีความเกี่ยวข้องน้อยกับตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ปรากฏเป็นชื่อ CS ถืออยู่นั้น ส่วนใหญ่ธนาคาร ถือในนาม Custodian หรือถือให้ลูกค้า ธนาคารไม่ได้ลงทุนเองโดยตรง

  • ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ Credit Suisse Securities (Thailand) ยังคงดำเนินการตามปกติมีทุนสำรองตามเกณฑ์ที่กำหนด และไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

  • นอกจากนี้ Swiss National Bank ธนาคารกลางของสวิสได้เข้ามาดูแล อัดฉีดสภาพคล่องให้ CS แล้ว ทำให้ตลาดคลายความกังวล และตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวกลับมาในวันนี้ และหุ้นไทยตกลงไม่มากเช่นเดียวกับตลาดภูมิภาค

  • อย่างไรก็ตามหากตลาดมีความผันผวนสูง ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมเครื่องมือไว้เผื่อใช้ในกรณีที่ตลาดปรับลดรุนแรง เพื่อลดความผันผวน เครื่องมือดังกล่าวจะแถลงรายละเอียดต่อไป

  • อย่างไรก็ตามในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มองว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มาตราการฉุกเฉินเพื่อมาดูแลตลาด โดยจะเน้นการให้ข้อมูลสื่อสาร ที่รวดเร็วมีแนวทาง โดยได้ปรึกษานักลงทุนสถาบันในประเทศ และมีเรื่องที่ดำเนินการกับหน่วยงานกำกับอื่นๆ ทำงานร่วมกันมากขึ้น ยืนยันตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงไม่ได้เป็นปัญหาปัจจัยภายใน แต่เป็นปัจจัยภายนอก  

"มาตรการต่างๆที่มี ใช้ได้เสมอในเวลาที่เกิดความผันผวนในอดีต แต่วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ตลาดเปราะบางไม่ใช่แค่ในไทย ตอนนี้ให้ความสำคัญกับข่าวสารข้อมูล มาตราการต่าง ๆ ไม่ต้องห่วงการเหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้ ใช้ได้ แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น"  

  • ส่วนการฟื้นสิทธิประโยชน์กองทุน Long-term equity (LTF) จะมีโอกาสเห็นมากน้อยขนาดไหน เรื่องนี้เป็นแนวคิดทำอย่างไรให้มีผู้เล่นในตลาดทุนไทย สถาบันถือเป็นกลุ่มใหญ่ ที่อยากส่งเสริมให้มีดีมานด์ใหม่ในตลาดทุนไทย ถ้ามีอะไรคืบหน้าจะขออัพเดทที่หลัง นายภากรกล่าว

  • ตลาดหุ้นไทย เมื่อเวลา 15.12 น. ของวันที่ 16 มี.ค.เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,555.48 จุด -9.52 จุดหรือ -0.61% มูลค่าการซื้อขาย 5.1 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในภาคเช้าซึ่งดัชนีอยู่ที่ 1,538.10 จุด หรือลดลง 26.90 จุด

จิตตะ เวลธ์ชี้ Credit Suisse  แบงก์ใหญ่หากปล่อยให้ล้ม กระทบเศรษฐกิจโลก

  • จิตตะ เวลธ์ชี้ Credit Suisse เป็นแบงก์ใหญ่ หากปล่อยให้ล้ม ย่อมกระทบเศรษฐกิจโลก เชื่อหากภาครัฐช่วยสร้างความมั่นใจผู้ฝาก จะรักษาเสถียรภาพระบบธนาคารได้ ขณะที่สถานะการเงินยังแกร่ง ฐานทุนอยู่ระดับสูง แนะจับตาแนวทางแก้ปัญหา

  • นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) สตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่มีจำนวนกองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารมากที่สุดในประเทศ เปิดเผยว่าการล้มของธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่ง เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก ล่าสุด Credit Suisse ธนาคารชื่อดังระดับโลกจากสวิสถูกนักลงทุนเทขายหุ้น หุ้นร่วงกว่า 24.24% และร่วงกว่า 76.23% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา  หลังจากที่ผู้ถือรายใหญ่ที่สุดอย่าง Saudi National Bankปฎิเสธการเพิ่มทุน สร้างความกังวลให้นักลงทุนที่เพิ่งตื่นตระหนกกับการล้มคลื้นของธนาคารในสหรัฐฯ

  • ก่อนหน้านี้ Credit Suisse ประสบปัญหาทั้ง  เหตุการณ์ปล่อยให้บริษัทยาฟอกเงินในบัลแกเรีย  พันพันในคดีทุจริตในโมซัมบิก เรื่องอื้อฉาวเกียวกับการสอดแนมอดีตผู้บริหาร ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ Credit Suisse ยังมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิในช่วงปี 2021-2022 ที่ผ่านมา โดยขาดทุน 7,306 ล้านสวิสฟรัง และ 1,626 ล้านสวิสฟรัง ตามลำดับ และหากพิจารณางบการเงินของธนาคาร จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินฝากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาส  4 ปี 2022 มีจำนวนเงินฝากอยู่ที่ 234,554 ล้านสวิสฟรัง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 393,841 ล้านสวิสฟรัง หรือลดลงกว่า 40% เป็นอีกหนึ่งจุดที่ลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

  • สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้น หากปล่อยให้ล้มจะส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารใหญ่ระดับโลก มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 530 พันล้านสวิสฟรัง หรือ ประมาณ 19.6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทระดับโลกและกลุ่มผู้มีความมั่งคังสูงที่มีเงินฝากอยู่ใน Credit Suisse เป็นจำนวนมาก  ซึ่งทางธนาคารกลางสวิสฯ ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับนักลงทุนและผู้ฝากเงินแล้วว่า หากมีความจำเป็นธนาคารกลางจะเข้าไปช่วยเหลือ Credit Suisse ทันที

  • ขณะที่ฝากฝั่งสหรัฐฯ เอง กระทรวงการคลังกำลังตรวจสอบว่าภาคธนาคารสหรัฐฯ มีธุรกรรมกับ Credit Suisse มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นและติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

  • ทั้งนี้หากวัดผลด้วยค่าความเสี่ยงจาก Credit Default Swap (CDS) ปัจจุบันนักลงทุนมองว่า Credit Suisse มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งสถานการณ์คล้ายกับ Morgan Stanley ในปี 2008 แต่ Morgan Stanley ก็สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้ และกลายมาเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นโอกาสในการก้าวพ้นความยากลำบากของ Credit Suisse ยังมีอยู่ แต่จะต้องต้องติดตามต่อไปว่าเหตุการณ์จะพัฒนาไปในลักษณะใด รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของธนาคารเองหรือหน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรด้วย  

  • อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือ Credit Suisse ก็อาจจะไม่ใช้งานที่ง่ายนัก เพราะเป็นธนาคารใหญ่มีสินทรัพย์มาก ดังนั้นจะต้องใช้เงินทุนมากระดับหนึ่งในการเข้าไปช่วยอุ้ม

  • ซีอีโอจิตตะ เวลธ์ประเมินอีกว่า หากพิจารณาตามอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ Creidt Suisse สามารถรักษาอัตราส่วนตามมาตรฐานสถาบันการเงินโลก  โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1 ratio) 14.4% (ขั้นต่ำ 4.5%) เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 ratio) 20.3%  (ขั้นต่ำ 6%) และมีอัตราส่วนเงินทุนโดยรวม (Total capital ratio) 20.5% (ขั้นต่ำ 8%) ดังนั้นหากธนาคารกลางเข้ามาให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงิน จะช่วยรักษาเสถียรภาพของธนาคารได้ ซึ่งในระหว่างนี้ Credit Suisse จะต้องปรับโครงสร้างธนาคาร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ ขายแผนกที่ไม่ทำกำไรออกไปเพื่อสร้างรักษาความมั่นคงในระยะยาว

“ปัจจุบันต้องคงต้องติดตามต่อไปว่า Credit Suisse จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างไร และ ธนาคารกลางจะเข้ามาช่วยเหลือในลักษณะไหน รวมไปถึงผู้ฝากเงินจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธนาคารหรือไม่” นายตราวุทธิ์ กล่าว



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ


🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!