10 พฤษภาคม 2566
17,610

เช็กเลย..สิทธิใหม่ประกันสังคมปี 2566 เพิ่มสิทธิอะไรบ้าง ?

Highlight

เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมรอบล่าสุดปี 2566 หลังยุคโควิดในรอบนี้เรามีสิทธิประโยชน์อะไรอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ทั้งกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 และกลุ่มอาชีพอิสระมาตรา 40  ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้จาก คุณปาริฉัตร จันทร์อำไพ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

20230510-a-02.jpg

20230510-a-03.jpg

20230510-a-04.jpg

ผู้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มี 2 กลุ่มคือ

1. ผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนกับนายจ้าง ทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม การส่งเงินสมทบเป็นไปตามเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นถ้าส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน จะมีสิทธิ์เรื่องการรักษาพยาบาล มีให้เลือกทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชน ยกเว้นกรณีที่ต้องดูแลเกินความจำเป็น

ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่จำกัดโรค จนสิ้นสุดการรักษา ยกเว้นกรณีที่ต้องให้การบริการเกินความจำเป็น เช่น บริการเสริมสวย แปลงเพศ ก็ยังไม่คุ้มครอง

แต่ถ้าเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลทั่ว ๆ ไป ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน ก็ไม่มีค่าใช้จ่าย  

ช่วงหยุดพักรักษาตัวใน 30 วันแรก นายจ้างจะให้การดูแลตาม พรบ. สวัสดิการทำงาน แต่ถ้าเกิน 30 วันก็สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ โดยได้รับร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ

นอกจากนี้ การคลอดบุตรก็เบิกได้ ผู้ประกันตน และภรรยาผู้ประกันตน เหมาจ่ายเบิกได้ถึง 15,000 บาท ถ้าผู้ประกันตนเป็นผู้หญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การคลอดบุตรร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเป็นเวลา 90 วัน สำหรับบุตร มีเงินสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ เบิกได้ถึง 3 คน 

กรณีการว่างงาน ก็สามารถแจ้งรับเงินทดแทนได้ ถ้าเป็นการลาออกจากงานเอง จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมจัดหางาน ซึ่งปัจจุบันมีความสะดวก สามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผ่านเว็ปไซต์ของกรมจัดหางาน จากนั้นสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีแก่ผู้ประกันตน

กรณีเกิดทุพพลภาพ มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนในการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 50 ไปตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ ในอัตรา 50,000 บาท รวมทั้งเงินสงเคราะห์การเสียชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับเงินสมทบมาเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ สูงสุดหากเกิน 120 เดือนขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีการเสียชีวิตถึง 12 เดือน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ 



2. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ก็สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้โดยสมัครใจ ตามมาตรา  40 แต่สิทธิประโยชน์ก็จะแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 ส่งเงินสมทบเดือนละ 70 บาท ทางเลือกที่ 2 ส่งเงินสมทบเดือนละ 100 บาท ทางเลือกที่ 3 ส่งเงินสมทบเดือนละ 300 บาท 

การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะต้องเข้ารับการรักษาในระบบบัตรทอง แต่ถ้าจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็สามารถเบิกเงินทดแทน การขาดรายได้ในอัตราวันละ 300 บาท สำหรับทางเลือกที่ 1 และ ที่ 2 ปีละไม่เกิน 30 วัน สำหรับทางเลือกที่ 3 ปีละไม่เกิน 90 วัน

กรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ 3 เบิกได้ในอัตรา 50,000 บาท

ส่วนกรณีทุพพลภาพ ทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินทดแทน เป็นระยะเวลา 15 ปี ส่วนทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินทดแทนตลอดชีวิต

กรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 2 ที่มีการสมทบเดือนละ 100 บาท นั้น แต่ละเดือนจะมีการเก็บออมไว้ 50 บาท เมื่ออายุครบ 60 ปีก็จะคืนให้ทั้งก้อนพร้อมดอกผล และทางเลือกที่ 3 ทุกๆ 300 บาทที่สมทบ จะเก็บไว้ให้เดือนละ 150 บาท เมื่ออายุครบ 60  ปีก็จะคืนทั้งก้อนพร้อมดอกผล 



20230510-a-01.jpg

โครงการ 5 โรค

โครงการ 5 โรคเป็นโครงการนำร่อง โดยจัดโครงการร่วมกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาได้ 5 โรค ได้แก่

1. การผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจ

2. ผ่าตัดโรคหลอดเลือดสมอง

3. ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีหรือนิ่วในไต

4. ผ่าตัดก้อนมดลูก

5. ผ่าตัดก้อนมะเร็งเต้านม

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เคสสะสมต้องรอนาน และคั่งค้าง การเข้าถึงการรักษาทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทางสำนักงานประกันสังคมจึงจัดให้มีโครงการนี้ขึ้นมา และทำ MOU กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ระยะโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2566  โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมในโครงการ 43 แห่ง

โครงการนี้ เป็นโครงการนำร่อง อีกทั้งไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทางสำนักงานประกันสังคม ก็จะประเมินผลของโครงการในระยะต่อไปเพื่อเตรียมการรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังใกล้เข้ามา

สำหรับเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อต้อนรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย สำนักงานประกันสังคมเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญ โดยมีโครงการตรวจสุขภาพประจำปี 14 รายการ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ตามสิทธิ อ้างอิงกับกรมการแพทย์ ว่าแต่ละรายการเหมาะสมที่ตรวจในช่วงอายุเท่าไหร่ เช่น ตรวจการทำงานของเลือด ไต ปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ โดยการนำทีมแพทย์เข้าไปในสถานประกอบการเพื่อตรวจประเมินสุขภาพ และจัดกลุ่มเป็น เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และ เสี่ยงต่ำ จากนั้นก็จะวิเคราะห์และประเมินผล ในอนาคตก็จะกระจายไปทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ทางสำนักงานประกันสังคมขอเตือนภัยว่า ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมไม่เคยส่งลิงก์ให้ประชาชน ดังนั้นไม่ควรกรอกข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ปลอม ซึ่งขอยืนยันว่า เว็ปไซต์ประกันสังคมมีเพียงเว็บไซต์เดียว คือ www.so.go.th เท่านั้น ส่วนช่องทางอื่นที่สามารถติดต่อและตรวจสอบสิทธิ์ได้คือ LINE ผ่าน @ssothai 

20230510-a-05.jpg

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกนั้น มีการจองสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 60,000 ราย และปิดรับการจองสิทธิ์ไปเมื่อ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวนี้จัดขึ้นสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ภายใต้เงื่อนไขการเป็นสมาชิกอย่างน้อย 12 เดือน และมีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ติดต่อโฆษณา!