10 กรกฎาคม 2566
1,681

ลงทุนหุ้นไทยครึ่งปีหลัง รุ่งหรือร่วง ?

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการให้น้ำหนักในการลงทุนในครึ่งปีหลัง 2023 คุณกวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด มหาชน (Pi Securities) ระบุว่า ปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนมากกว่าปัจจัยภายในครึ่งปีหลัง กลยุทธ์การลงทุน เน้นกลุ่มธนาคารไฟแนนซ์ ได้ประโยชน์จากการสิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น 

หากย้อนหลังไปปี 2008 ที่เกิดวิกฤติ Subprime และตลาดหุ้นก็ผ่านมาหลายปี แม้การเมืองไทยก็ยังคงไม่พัฒนาไปมาก แต่หุ้นไทยก็ปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิน และบริษัทจดทะเบียนยังคงสร้างผลกำไรตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

20230710-a-01.jpg


ตลาดหุ้นไทยและบริษัทจดทะเบียนไทยมีกำไรเติบโตได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยในประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากการฟื้นตัวของวิกฤต Subprime ทั้งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจอเมริกาก็ฟื้นตัวได้ดีหลังจากผ่านวิกฤติมา มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบค่อนข้างมาก สภาพคล่องก็เยอะ เงินก็กระจายมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น 

เงินไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย แม้บางกองทุนใหญ่ ๆ ในโลก อาจจะเลือกลงทุนแต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไทยก็อาจจะมีเสน่ห์หากเทียบกับหลาย ๆประเทศ เพราะมีสภาพคล่องสูง แม้ว่าขนาดตลาดเราจะไม่ใหญ่แต่มีสภาพคล่องดี นักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นไทยสามารถลงทุนกระจายความเสี่ยงได้

20230710-a-02.jpg


ในพอร์ตการลงทุน 100% อาจจะมีการลงทุนในเอเชีย 20% ลงทุนในอาเซียน 5% และลงทุนในไทย 1%  ดังนั้นก็ทำให้ตลาดเติบโตได้จากการที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามา 

แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการเมืองภายใน อาจจะมีการถ่วงกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปบ้าง รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาพรวมก็ยังเติบโตตามเศรษฐกิจโลกได้ เรายังต้องพึ่งพาการส่งออก พึ่งการลงทุนในประเทศ รวมทั้งพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐ 

อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวเติบโตดี เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว  การส่งออกดี สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็กลับมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ช่วยให้เราค้าขายได้ง่ายขึ้น การบริโภคเพิ่มขึ้นจึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ 

“ดังนั้นปัจจัยการเมืองในประเทศเราจึงไม่ได้ให้น้ำหนักมาก แต่โฟกัสไปที่ปัจจัยต่างประเทศมากกว่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่นิ่ง” คุณกวี ระบุ

เรื่องเงินเฟ้ออย่างน่ากังวลหรือไม่ในครึ่งปีหลัง สำหรับเงินเฟ้อก็ลงมาค่อนข้างมากจนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จีน ญี่ปุ่น เงินเฟ้อต่ำมาก ด้านสหรัฐฯ เงินเฟ้อลงมาเหลือ 4% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 7-8%  ยุโรปลงช้ากว่า แต่เทรนด์ก็เป็นแนวโน้มขาลงเช่นเดียวกัน เพียงแต่ลงช้ากว่าสหรัฐฯ

สหรัฐฯ อาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ ส่วนธนาคารกลางยุโรปแม้มีแนวโน้มว่าจะขึ้นต่อในระยะสั้น แต่คงขึ้นได้ไม่เยอะ ตัวเลขเงินเฟ้อต่างประเทศเริ่มผ่อนคลาย แต่กังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลายคนพยามจะพูดว่ามัน “Soft Landing”  แต่คำถามคือว่า แล้วเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเมื่อไหร่ ?

เพราะการจะกลับมาเติบโตท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงมันค่อนข้างยาก อัตราการว่างงานของอเมริกาก็ต่ำ การที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตก็ยากอีก หนี้สินในโลกก็สูงมาก สภาพคล่องจะอัดฉีดใหม่ก็ทำได้ยาก จึงกังวลว่าจะกลับมาได้อย่างไร

ดังนั้นเมื่อดูปัจจัยในครึ่งปีหลังแล้วก็ยังมีความไม่ชัดเจน แต่ข้อดีคือตลาดหุ้นไทยยังถูกระดับ P/E ตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ 14 เท่า หากไม่นับรวมหุ้นเดลต้า ซึ่งค่อนข้างต่ำ ในหุ้นกลุ่มหลักระดับค่า P/E ค่อนข้างต่ำ เช่น กลุ่มธนาคาร พลังงาน ปิโตรเคมี อยู่ที่ 10 เท่าต้น ๆ เท่านั้น ขณะที่เงินปันผล มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% 

20230710-a-03.jpg

หุ้นขนาดใหญ่ ใน Sector ที่เติบโตสูง เช่นหุ้นกลุ่ม โรงแรม กลุ่มสนามบิน โรงพยาบาล ราคาก็ยังสูงอยู่ ดังนั้นจึงมองไม่เห็นว่าตลาดหุ้นไทยจะลดลงไปมาก เหมือนช่วงวิกฤต Subprime หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง 

สำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่นบริษัท GULF หรือ INTUCH ก็คงไม่จบง่าย ๆ และยังคงผันผวนต่อไป คงต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน 

ในภาพกว้างบริษัทที่เข้าไปประมูลงานภาครัฐ บริษัทที่ต้องขอใบนุญาตจากภาครัฐและมีอายุการใช้งาน จะมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะเป็นของภาครัฐ แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องขอสัมปทาน ดังนั้น AOT ไม่อยู่ในข่ายนี้ 

หุ้นกลุ่มที่ต้องขอสัมปทานคือสื่อสาร โรงไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคนที่ถืออยู่แล้วและพอร์ตไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก อย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ก็ยังคงทำกำไรอยู่ เพราะยังคงมีเวลาสัมปทานเหลืออยู่ และยังคงจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ก็ยังคงคุ้มค่ากับการลงทุน เพียงแต่ว่าในอนาคตถ้าเราจะซื้อเพิ่มก็ต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วย

ช่วงเศรษฐกิจที่ตกต่ำและกำลังจะฟื้นตัวกลับมา หุ้นไหนที่น่าสนใจ และแนวโน้มดอกเบี้ยกำลังเป็นขาลง มองว่ากลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน ดีที่สุด ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจจะลดลงไปถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ และจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อไหร่

ดังนั้นช่วงปรับฐานจึงมองว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่น่าสนใจลงทุน หรือไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน ช่วงเริ่มรีบาวน์  เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย ส่วนธนาคารขนาดกลางเลือก ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และไฟแนนท์ขนาดเล็กเช่น เงินติดล้อ (TIDLOR) เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจที่สามารถลงทุนได้เลยในขณะนี้ เช่น หุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงพยาบาล โรงแรม ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากด้านการเมืองน้อย ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรก็ยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างน้อย 2 ปี เพราะนักท่องเที่ยว ก็น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสองปีข้างหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะแย่ก็ตาม แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ เรายังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวมาได้เสมอ กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้ไปคือนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะจัดสรรงบประมาณไปทางด้านใด และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหน
ติดต่อโฆษณา!