ไทยควรยืนอย่างไรในโลกแบ่งขั้ว และแนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยโตต่อบนความท้าทาย
ไทยควรยืนอย่างไรในโลกแบ่งขั้ว ในเมื่อมหาอำนาจของโลก คือสหรัฐฯ และจีน มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อ 20 ปีก่อน หลายคนคุ้นชินกับคำว่า “Globalization” หรือ “โลกาภิวัฒน์” ที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกตีกลับกลายเป็น “Deglobalization” เพราะโลก “กำลังแบ่งขั้ว” กันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนหนึ่งเนื่องจากว่า จีนเติบโตมากขึ้น เป็นมหาอำนาจที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขั้วของมหาอำนาจและประเทศพันธมิตร สร้างความตึงเครียดไปทั่วโลก
ไทยเป็นประเทศที่ขนาดไม่ใหญ่นัก เราควรจะอยู่ฝั่งไหน วางตัวอย่างไร ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รวบรวมเหตุผล การแบ่งขั้วของโลก เกิดจากอะไรบ้าง
▪️ การแบ่งขั้วของโลก เกิดจาก 3 ปัจจัย
1. ความสอดคล้องของแนวคิดทางการเมือง
ด้านระบบการปกครอง แบ่งเป็น แบบประชาธิปไตย และ แบบไม่เป็นประชาธิปไตย
- แบบประชาธิปไตย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป
- แบบไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น จีน รัสเซีย หรือบางประเทศในอาเซียน
2. การแบ่งขั้วตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
ใครที่ค้าขายกันอยู่เสมอ ๆ เป็นประเทศคู่ค้ากัน หรือมีการลงทุนซึ่งกันและกัน ก็มักจะอยู่ในขั้วเดียวกัน
3. การแบ่งขั้ว จากทิศทางนโยบายต่างประเทศและการลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศ บางประเทศที่นิยมการปกครองแบบจีน รัสเซีย หรือสหรัฐฯ ก็เลือกอยู่ขั้วเดียวกับประเทศนั้น
▪️ ไทยควรยืนอย่างไรในโลกแบ่งขั้ว ทั้งสหรัฐฯ และจีนมีความเกี่ยวข้องทางการค้า และการลงทุนกับไทยมากทั้งสองประเทศ
SCB EIC มองว่านโยบายที่เหมาะสมที่สุด ของประเทศไทยก็คือการวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย
ถ้าในอนาคตโลกมีการแบ่งขั้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลเสียของการไม่เลือกฝ่ายก็แปลว่าเรากลายเป็น Second Priority เป็นตัวเลือกลำดับ 2 หรือลำดับ 3 ทั้งสหรัฐฯ และจีน อาจจะเลือกค้าขายกับประเทศที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นพันธมิตรก่อน
แต่ SCB EIC ยังเชื่อมั่นชัดเจนว่า แนวทางของไทยที่เลือก “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ผลกระทบเชิงลบ มีบ้างในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ผลกระทบเชิงบวกน่าจะมีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน ที่ทุกฝ่ายยังได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เชื่อว่าทั้งสองประเทศยังคงทำมาค้าขายและลงทุนในประเทศไทยต่อไป
ณ ตอนนี้ การแบ่งฝ่ายของทั่วโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐญ และพันธมิตรก็ยังมีมากกว่าฝ่ายจีน แต่ในอนาคตมีการประมาณตัวเลขว่า กลุ่มของจีน ซึ่งมีพันธมิตรคือ รัสเซีย และอีกหลาย ๆ ประเทศ ก็จะมีขนาดเศรษฐกิจที่โตขึ้นเรื่อยๆ และจะขึ้นมาทัดเทียมกับฝั่งของสหรัฐฯ
ซึ่งหวังว่ากระแสนี้จะมีทางออกที่ชัดเจนโดยไม่ต้องต่อสู้กันยาวนานมากจนเกินไป เพราะว่าการต่อสู้กันระหว่าง สองมหาอำนาจ จะส่งผลกระทบเชิงลบจะกระจายตัวไปยังเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
▪️ แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ
เรื่องใกล้ตัวอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ธุรกิจโรงเรียนานาชาติ ซึ่งมีการประมาณการว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทย มีขนาดใหญ่ มีเงินสะพัดมากถึงปีละ 7 หมื่นล้านบาท เพราะนอกเหนือจากคนไทยที่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติแล้ว ก็ยังมีชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย เช่น คนจีน ประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะส่งลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติที่ไทย เข่นกัน
▪️ แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทย โตต่อบนความท้าทาย
โรงเรียนนานาชาติประมาณ 50% เป็นหลักสูตรอังกฤษ อีก 30% เป็นหลักสูตรสหรัฐฯ 12% เป็นหลักสูตรประยุกต์ หรือ International Baccalaureate (IB) และอีก 8% เป็นหลักสูตรเฉพาะแต่ละประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และ จีน
จากการสำรวจพบว่า คนไทยส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ มากพอสมควร ซึ่งเป็นกลุ่มคนประเภท High Net Worth ซึ่งคำนิยามของคนกลุ่มนี้คือ ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป
มีการประมาณการว่า คนไทยในปัจจุบันที่มีทรัพย์สินเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไป น่าจะมีมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนนานาชาติ
แนวโน้มการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากคนไทยเอง ที่นิยมส่งลูกไปเรียนมากขึ้น และเทรนด์คนจีนที่เดินทางมาเรียนที่ไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่จีนกฏหมายยังไม่อนุญาตให้เด็กเรียนโรงเรียนนานาชาติ โดยยังคงต้องศึกษาในหลักสูตรภาคบังคับของรัฐบาล
สำหรับโรงเรียนนานาชาติในไทยแบ่งออกเป็น 2 โซน คือโซนฝั่งแจ้งวัฒนะ และโซนบางนา แต่อุปสรรค ก็ยังมีเช่นกัน
▪️ ความท้าทายของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ
1. อัตราการเกิดของไทยลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคส่งผลต่อธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในอนาคตเติบโตได้ช้า
2.โรงเรียนไทยปัจจุบันเริ่มปรับหลักสูตรเป็น Bilingual หรือหลักสูตร 2 ภาษา มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมี English Program (EP) เป็นคู่แข่งที่สำคัญ และราคาค่าเล่าเรียนถูกกว่าโรงเรียนนานาชาติ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ใกล้เคียงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากอดีตที่กลุ่มเป้าหมายแยกกันอย่างชัดเจน
▪️ การสนับสนุนจากภาครัฐ
รัฐบาลสามารถส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจโรงเรียนนานาชาติให้เติบโต และดึงดูดเงินจากต่างประเทศได้ เช่น การส่งเสริมให้ครู หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเมืองไทยได้ง่ายขึ้น ด้วยการออกวีซ่าให้ง่ายยิ่งขึ้น
การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ครูเก่ง ๆ ที่มีความสามารถเข้ามามากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนนานาชาติในไทยเติบโต มีเงินสะพัดมากขึ้น ดึงดูดนักเรียนจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น