14 กันยายน 2566
830
นักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้มาตรการลด แลก แจก แถมของรัฐบาล กระทบวินัยการเงินการคลัง

ในการการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวานนี้ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนหลายประการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินงบประมาณ การลดภาษี และกลไกอื่น ๆ
รัฐบาลได้อนุมัติกรอบการคลังระยะปานกลาง (Medium Term Fiscal Framework) ที่ควรจะเป็นกรอบการดำเนินงานของรัฐบาล และบอกกับนักลงทุนว่ารัฐบาลมีแผนในการจัดการการเงินอย่างไรในอนาคต
ดร. พิพัฒน์ ระบุว่า มีข้อน่าสนใจสามเรื่อง ดังนี้
▪️ ประเด็นแรก มีการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 5.93 แสนล้านบาท เป็น 6.93 แสนล้านบาท เพิ่มงบประมาณขึ้น 1.3 แสนล้านบาท และเพิ่มประมาณการรายได้ขึ้นอีกนิดหน่อย
“ผมสงสัย แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการสร้างช่องว่างเพื่อใส่มาตรการแจกเงิน 5.6 แสนล้าน ซึ่งการขาดดุลก็เกือบเต็ม Max ตามกรอบ พรบ. หนี้สาธารณะ หรือเปล่า”
ถ้าใช่ ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าเราจะหาเงินจากไหนมาชดเชยมาตรการที่เหลืออีก 4.3 แสนล้านบาท เข้าใจว่าจะให้ธนาคารของรัฐออกไปก่อนและตั้งงบประมาณชดชยทีหลัง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยกรอบมาตรา 28 ของ พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่อาจจะต้องยกขึ้น แต่อาจจะยกขึ้นได้ไม่มากนัก
ที่เหลือจะให้ใครออกก่อน หรือต้องขายอะไรทิ้ง ?
▪️ ประเด็นที่สอง คือมีการปรับกรอบการขาดดุลงบประมาณในอนาคตขึ้นทั้งแผง จากเดิมที่เราคาดกันว่า ว่าจะค่อยๆปรับการขาดดุลงบประมาณลดลง และจะพยายามทำงบประมาณ “สมดุล” ในระยะยาว แผนดังกล่าวโดนใส่ลิ้นชักไปก่อน
สงสัยว่านี่คือน่าจะเป็นการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยการแจกเงิน ที่เราคงต้องใช้หนี้ปีละ 0.6% ของ GDP ไปอีกสี่ห้าปีหรือเปล่า แต่เหมือนว่ารัฐบาลกำลังคาดว่าจะไม่ปรับลดงบประมาณอื่นๆลง หรือหารายได้ใหม่เพื่อชดเชยเลยหรือเปล่า
▪️ ประเด็นที่สาม คือ รัฐบาลคาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปแถวๆ 65% ของ GDP จากเดิมประมาณ 61% และกดไม่ลงตามที่คาดก่อนหน้านี้ และไปใกล้เพดานระดับ 70% ของ GDP ที่เราเพิ่งจะยกขึ้นมาไม่นาน ซึ่งจะทำให้ Buffer ทางการคลังเพื่อรองรับ Shock ในอนาคตมีน้อยลง
“ถ้านี่คือผลจากการแจกเงิน วาทกรรมที่บอกว่า เราสามารถแจกเงินได้ โดยไม่กระทบวินัยการคลัง ไม่เป็นภาระงบประมาณนั้นเป็นไปไม่ได้เลย” ดร.พิพัฒน์ ระบุ
นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงอีก เช่น ในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทย ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะปรับตามอัตราดอกเบี้ยนอกประเทศ แต่อีกส่วนอาจจะสะท้อนความเสี่ยงด้านการคลังและ Supply ของพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้นด้วย
ซึ่งหมายความว่าต้นทุนการเงินของรัฐบาล และเอกชนไทยก็ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ การใช้เงินนอกงบประมาณ ให้แบงก์รัฐออกเงินไปก่อน ก็อาจจะทำให้ต้องมีการระดมสภาพคล่องจนกระทบต่อต้นทุนการเงินในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีกหรือไม่ จนน่าคิดว่ากระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อจะออกมาปรับมุมมองต่อ Rating ของไทยอีกหรือเปล่า
นอกจากนี้ การขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น และการอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟ อาจจะทำให้การดุลบัญชีเดินสะพัดที่เราคาดว่าจะดีขึ้น แย่ลงไปจนกระทบต่อค่าเงินได้เหมือนกัน เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเรากับ ตปท สูงเหลือเกิน
“หรือนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ นายกรัฐมนตรีไม่ควรนั่งควบ รมว.คลัง เพราะ รมว.คลัง ควรจะเป็นคนคุมกระเป๋าเงินของรัฐบาล และเป็นคนที่คานรัฐบาลว่าการใช้เงินมีข้อจำกัด และวินัยของการใช้เงินควรเป็นอย่างไร” ดร.พิพัฒน์ ระบุ
ข่าวยอดนิยม

6 แอปฯ "ออมทอง" ไม่ต้องมีเงินก้อน ก็เริ่มลงทุนได้ !

7 แอป สร้างรายได้เสริม ไม่ต้องออกจากบ้าน ก็หาเงินได้!

ส่องรายได้คนขับส่งอาหาร ทางเลือกอาชีพยุคโควิด

6 บัญชี “ออมทรัพย์ดิจิทัล” ดอกเบี้ยดีต่อใจ สมัครง่ายผ่านออนไลน์ !
