09 ตุลาคม 2566
1,222

เจาะเศรษฐกิจจีน ฝ่าวิกฤต หาโอกาสทุน

หลายคนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างเข้มแข็งหลังจากการเปิดประเทศแต่ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้  เราเริ่มส่งสัญญาณการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจของจีนในหลายภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน และภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถหาทางออกได้ 

แต่ทางด้านการลงทุนในประเทศจีน ยังมีความน่าสนใจ คุณดนัย อรุณกิตติชัย assistant managing director, fund management บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า จีนได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยในช่วง 2-3 ปีหลัง เช่น การระบาดโควิด-19 สงครามการค้า (Trade-War) และสงครามด้านเทคโนโลยี (Tech-War) ระหว่างจีน-สหรัฐฯ มีการกีดกันทางการค้า ด้าน Chip Semiconductor 

ปัญหาล่าสุดคือด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะต่อเศรษฐกิจ กระทบการออมในระบบ คนจีนราวครึ่งหนึ่งมีการออมอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง แตกต่างจาก Trade-War ที่มีผลกระทบในวงจำกัดเฉพาะผู้ส่งออก และผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคฯ

ปัญหาจีนค่อนข้างหลากหลาย และยังมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน การจับกลุ่มกับประเทศพันธมิตร เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอทางการค้ากับประเทศฝั่งตะวันตก 

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของจีนลดตามไปด้วย ดังนั้นจึงดูว่าจีนมีปัจจัยรุมเร้าหลายอย่างในปัจจุบัน 


20231009-b-01.jpg

20231009-b-02.jpg

▪️ ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นปัญหาเรื้อรังยืดเยื้อ ทำไมจีนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ 

ในเรื่องนี้หากพิจารณากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน จะประกอบไปด้วยเครื่องยนต์หลัก 2 ประการ คือ
1. การส่งออกที่กระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด
2. การขยายตัวภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา 

เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหากับภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงเกิดผลกระทบวงกว้าง การแก้ไขปัญหาทำได้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน หรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งตอนนี้ลามไปถึงการลงทุน จึงพัวพันกันไปหมด ทำให้แก้ไขปัญหาได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสต็อกบ้านที่ขายไม่ออก อาจจะใช้เวลานาน 4 - 5 ปี กว่าจะขายได้หมด จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหน่วงที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

▪️ ขนาดของปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีน  น่ากลัวขนาดไหน รัฐบาลจีนจะแก้ไขอย่างไร

คุณดนัย กล่าวว่า ความรุนแรงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีน ทยอยประกาศผิดนัดชำระหนี้ และจะค่อยๆ ดึงการบริโภคในประเทศอ่อนตัวลง 

รัฐบาลจีนอาจต้องออกมาตรการลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ กระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

แต่การที่รัฐบาลจะเข้าไปอุ้มภาคธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย อาจมีคำถามว่าการใช้เงินจำนวนมหาศาลไปอุ้มภาคเอกชนขนาดใหญ่เหล่านั้นจะเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำรายได้ประชากรก็ยังคงอยู่ ปัจจัยนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการคลอดออกมาช้า และเห็นเพียงการลดดอกเบี้ยลงบ้างและยืดเวลาชำระหนี้บ้างในช่วงที่ผ่านมา 

ลักษณะเศรษฐกิจจีนตอนนี้ แม้จะดูคล้ายกับญี่ปุ่นในอดีตที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีปัญหาเงินเฟ้ออยู่ช่วงหนึ่ง ดัชนี PPI ผู้ผลิตของจีนติดลบประมาณ 4 - 5% ทำให้มีความกังวล 


20231009-b-04.jpg

แต่ปัญหาข้างในของจีนแตกต่างกันค่อนข้างมากกับญี่ปุ่น หากวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า เศรษฐกิจจีนยังมีศักยภาพอยู่ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจีนมีการเติบโตสูง โดยในช่วง 30 ปีแรก ตั้งแต่ช่วงปี 1980 - 2000 เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 9 - 10 % โดยมีจุดแข็งด้านแรงงาน และค่อย ๆ พัฒนาด้านเทคโนโลยีขึ้นมา 

ซึ่งเศรษฐกิจจะโตได้ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แรงงาน เครื่องจักร และเทคโนโลยี ซึ่งจีนยังมีใน 3 ปัจจัยหลักนี้ และจีนยังห่างไกลปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  แต่แตกต่างจากญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบมานานแล้ว ตราบใดที่จีนยังมีแรงงาน ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังมีอยู่

ด้านเทคโนโลยี จีนเติบโตเร็วในอดีต อาศัยดูและทำตาม แต่เมื่อโดนกีดกัน ตอนนี้จึงกลับมาพัฒนาด้วยตัวเอง ถ้าพัฒนาขึ้นมาเองได้สำเร็จ เศรษฐกิจก็ยังมีศักยภาพเติบโต ด้วยเครื่องจักรที่มีอยู่ 


20231009-b-03.jpg
20231009-b-06.jpg

▪️ การลงทุนในหุ้นจีน ยังน่าสนใจหรือไม่ 

การลงทุนในหุ้นจีน หากมองย้อนกลับไปในปี 2005-2007 การลงทุนในหุ้นจีนให้ผลตอบแทนดีมากที่ราว 50 - 100% ต่อปี ต่อมาในปี 2018 - 2020 การลงทุนในหุ้น เทคฯ จีนกลับมาบูมอีกครั้ง  เช่น หุ้นอาลีบาบา และต่อมาอ่อนตัวลงไป หลังภาครัฐเข้ามาคุมเข้มจัดระเบียบ และในช่วงนั้นนักลงทุนรายใหญ่สหรัฐ เข้ามาลงทุนในจีนค่อนข้างมาก โดยการซื้อผ่าน ADR หรือ American Depository Receipts 

กลับมาดูตอนนี้ หากนักลงทุนสหรัฐฯ จะเข้ามาซื้อหุ้นจีน ก็จะมีการตั้งคำถามหลายประการตามที่กล่าวถึงในช่วงต้น และภาพการเติบโตที่ลดลง แม้หุ้นจีนยังมีศักยภาพแต่อาจต้องถอยไปนิดนึง เพราะภาพความหวือหวาที่เคยเห็นอดีต อาจยังไม่กลับมา 

ตอนนี้หุ้นจีนอาจยังไม่อยู่ในความสนใจ นักลงทุนยัง Outflow ออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาปรับลดลงมาค่อนข้างเยอะ นักลงทุนรอมาตรการจากภาครัฐ แต่ถ้ารอเรื่องมาตรการอย่างเดียวสำหรับการลงทุนในระยะสั้นอาจทำได้ยาก ไม่รู้ว่ามาตรการจะออกมาเมื่อไหร่ ออกมาอย่างไร และมีปริมาณมากน้อยขนาดไหน จึงไม่สามารถคาดเดาได้ 

สำหรับระยะยาว หุ้นจีนยังมีความน่าสนใจ เพราะมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ 


20231009-b-05.jpg

การปรับฐานของตลาดหุ้นจีนอาจเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจของนักลงทุนในการมองหาหุ้นจีนที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต โดย บลจ.บัวหลวง มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน เช่นกองทุน B-CHINE-EQ

โดยกองทุนนี้จะลงทุนใน 3 ส่วนคือ
1. ลงทุนใน China A Share
2. ลงทุนใน China All Share
3. การลงในหุ้นรายตัว เพื่อทำให้พอร์ตมี Alpha หรือมีผลตอบแทนมากขึ้น แต่ต้องเป็นการลงทุนที่รอคอยได้ เพราะในช่วงสั้นตลาดยังคงผันผวนอยู่

ผลตอบแทนย้อนหลัง นับจากปี 2022 ตลาดหุ้นจีนติดลบ เนื่องจากจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว  และปัญหาวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตามมูลค่าตลาดจีนปรับตัวลงมากในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสที่ผลตอบแทนอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ติดต่อโฆษณา!