20 พฤศจิกายน 2566
384
ก.ล.ต. จี้ตลาด จัดการวิกฤตศรัทธาธุรกรรม Short Selling
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยกรณีที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤตศรัทธาการทำธุรกรรมชอร์ตเซลและการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง (HFT) ว่า ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเช้าของวันนี้ เพื่อให้ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ดังนี้
1. กรณีการทำชอร์ตเซล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ตอกย้ำว่า ก.ล.ต.ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล (Price Rule) ซึ่งปัจจุบันกำหนดใช้ราคาเท่ากับราคาตลาดฯครั้งสุดท้ายหรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาดฯ (Zerotick Rule) แต่คณะกรรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคา
2. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งว่าลูกค้าตัวจริงเป็นใคร ซึ่งปกติโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นชื่อโบรกเกอร์ หรือคัสโตเดียน เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการทำ Naked Short Sell หรือไม่
3. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งให้เกิดความเป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
ก.ล.ต. ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปตรวจสอบว่าการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นธุรกรรมของนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายย่อยต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันมีความเสี่ยงต่ำ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายก็จะต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต้นทุนจะสูงกว่านักลงทุนสถาบัน
“เราเห็นประเด็นว่า โปรแกรมเทรดดิ้ง เป็นธุรกรรมที่ต้นทุนต่ำ และสามารถทำกำไรในช่วงราคาแคบ ๆ ได้ จึงมีการซื้อขายกันครั้งละมาก ๆ ตรงนี้มองว่ามีความเสี่ยงสูง สำนักงานฯ ก็ได้กำชับกับตลาดฯเช้านี้คือ ให้ตลาดไปเพิ่มกลไกตรวจสอบ”
นอกจากนั้น ก.ล.ต. จะไปตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่มีสามารถตรวจจับธุรกรรม Naked Short ได้ โดยจะดำเนินการเร็ว ๆ นี้
นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า ส่วนเสียงเรียกร้องให้หยุดการทำธุรกรรมชอร์ตเซลนั้น ก.ล.ต.เห็นว่าต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย ต้องตรวจสอบให้รู้ว่า ไม่มีการทำผิดกฎเกณฑ์เรื่อง Naked short
ส่วนการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง อาจมีเรื่องบรรยากาศการลงทุนและปัจจัยพื้นฐานตลาดร่วมด้วย ไม่ได้มาจากความกังวลเรื่องชอร์ตเซลเพียงอย่างเดียว
ที่มา : สำนักงาน ก.ล.ต.