16 ธันวาคม 2566
1,247
5 กลยุทธ์ สร้างรายได้ หลังเกษียณ
เมื่อเกษียณไปแล้ว สิ่งที่เรามีแน่นอนคือเวลา แต่รายได้จะลดลง และทุกคนต่างก็ต้องการใช้ชีวิตตามแบบที่ตัวเองวางแผนเอาไว้ เช่น เดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่สำหรับผู้ที่กังวลว่าเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ การวางกลยุทธ์สร้างรายได้หลังเกษียณ เพื่อทำให้มีเงินเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและสบายใจ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
สำหรับกลยุทธ์การสร้างรายได้หลังเกษียณควรเลือกให้สอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
▪️ กลยุทธ์ที่ 1 สวัสดิการจากภาครัฐ
▪️ กลยุทธ์ที่ 2 บำนาญและประกันบำนาญ
▪️ กลยุทธ์ที่ 3 จัดสรรเงินลงทุนด้วยกลยุทธ์เงินสามถัง (Three-Bucket Strategy)
▪️ กลยุทธ์ที่ 4 สร้างรายได้หลังเกษียณด้วยอาชีพเสริม
▪️ กลยุทธ์ที่ 5 การใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
สำหรับกลยุทธ์การสร้างรายได้หลังเกษียณควรเลือกให้สอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
▪️ กลยุทธ์ที่ 1 สวัสดิการจากภาครัฐ
สวัสดิการภาครัฐสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยในประเทศไทยมีสวัสดิการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกษียณ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้รับเป็นรายเดือน เมื่อมีอายุครบ 60 ปี โดยต้องไปลงทะเบียนกับสำนักงานเขต เทศบาล หรือ อบต. ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยจะได้รับเงิน เริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 700 บาท เมื่ออายุ 70 - 79 ปี จะเพิ่มเป็น 800 บาท เมื่ออายุ 80 - 89 ปี และจะได้รับ 1,000 บาท เมื่อมีอายุ 90 ปีขึ้นไป
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท และมีคุณสมบัติอื่นตามที่โครงการกำหนด สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าโครงการ เพื่อมีรายได้อุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพจากทางภาครัฐ
▪️ กลยุทธ์ที่ 2 บำนาญและประกันบำนาญ
บำนาญข้าราชการ สำหรับข้าราชการที่มีอายุราชการ 25 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แล้วออกจากราชการด้วยเหตุ เกษียณ สูงอายุ ทุพพลภาพ หรือทดแทน จะทำให้มีสิทธิในการเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ
บำนาญจากประกันสังคม สำหรับผู้ที่ระหว่างทำงานได้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตน มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และนำส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่า 180 เดือน (15 ปี) จะมีสิทธิรับเงินชราภาพ ซึ่งจะเป็นแบบบำเหน็จเงินก้อนหรือบำนาญรายเดือน โดยจำนวนเงินที่จะได้รับมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนหรือระยะเวลาที่นำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม
บำนาญจากประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) เป็นประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันในช่วงต้นตามระยะเวลาของเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนด
▪️ กลยุทธ์ที่ 3 จัดสรรเงินลงทุนด้วยกลยุทธ์เงินสามถัง (Three-Bucket Strategy)
สำหรับผู้ที่มีเงินก้อน ณ วันเกษียณ ซึ่งอาจเป็นเงินที่ครบกำหนดเงื่อนไขกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินส่วนนี้สามารถเลือกใช้กลยุทธ์เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแทนที่จะเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารเพียงอย่างเดียว สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ด้วยการแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้เหมาะกับช่วงระยะเวลาที่จะต้องถอนเงินมาใช้หลังเกษียณ
ส่วนที่ 1 ถังเงินสดระยะสั้น (Income or Cash Bucket) เป็นเงินส่วนที่ไว้ใช้จ่าย ในช่วงหลังเกษียณช่วง 1 - 2 ปีแรกของการเกษียณ ควรลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น
ส่วนที่ 2 ถังเติมเงินระยะกลาง (Conservative or Defensive Bucket) เป็นเงินที่ใช้ในช่วงปีที่ 3 ไปจนถึง ปีที่ 10 ของการเกษียณ โดยการแบ่งเงินออกมาเพื่อสร้างผลตอบแทนด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสมที่ให้ปันผลสม่ำเสมอ
ส่วนที่ 3 ถังรักษาคุณภาพชีวิตระยะยาว (Aggressive or Growth Bucket) เป็นเงินที่ถือยาวได้ไว้ใช้หลังปีที่ 10 เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว เป็นต้น
▪️ กลยุทธ์ที่ 4 สร้างรายได้หลังเกษียณด้วยอาชีพเสริม
การเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณด้วยการมีกิจกรรมหรือการทำงาน นอกจากจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เพื่อใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ยังสามารถสร้างรายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดในช่วงวัยเกษียณได้ อีกทั้ง เป็นการลดการพึ่งพาการถอนเงินจากพอร์ตลงทุนมาใช้
การสร้างรายได้จากการทำงาน ในวัยเกษียณการสร้างรายได้จากอาชีพเสริม อาจพิจารณาจากความรู้ความสามารถ เนื้องานที่ชื่นชอบและให้ความสำคัญ มีลักษณะงานที่เหมาะกับเงื่อนไขด้านสุขภาพของผู้เกษียณ เช่น การรับเป็นที่ปรึกษาในสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์ การรับสอนหนังสือ เขียนบทความ งานอิสระทางช่องทางออนไลน์ การประกอบกิจการส่วนตัวตามความถนัด เป็นต้น
การสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มี ซึ่งเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดรายได้ เช่น การปล่อยบ้านให้เช่า การใช้ที่ดินทำการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงปลา รวมถึงการแปลงบ้านให้กลายเป็นโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว หรือในกรณีที่มีความสนใจด้านการบริหารพอร์ตลงทุน อาจพิจารณาผันตัวไปเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในกองทุนรวม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านความรู้ การเงิน (เงินลงทุน) และต้องไม่ลืมแบ่งสัดส่วนพอร์ตลงทุน ไม่ให้พอร์ตการลงทุนระยะสั้นไปกระทบกับพอร์ตการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณส่วนอื่น
▪️ กลยุทธ์ที่ 5 การใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
Reverse Mortgage มีลักษณะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เกษียณ โดยการนำบ้านไปจดจำนองกับธนาคาร โดยธนาคารจะพิจารณาวงเงินให้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน โดยจะทยอยจ่ายเงินให้เป็นรายงวด ต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดสัญญาเมื่อผู้กู้อายุ 85 ปี หากผู้กู้เสียชีวิตก่อนสิ้นสุดสัญญา ธนาคารจะนำบ้านขายทอดตลาด แล้วนำเงินค่าบ้านที่ขายได้ไปหักกลบยอดหนี้คงค้าง สำหรับมูลค่าส่วนเกิน จะส่งมอบให้กับทายาท แต่หากสิ้นสุดสัญญาแล้ว ผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ บ้านจะเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ธนาคารมีสิทธิให้ออกจากบ้านหลังนั้น และขายบ้านทอดตลาด ทั้งนี้ธนาคารอาจเปิดโอกาสให้ผู้กู้อยู่บ้านต่อไปได้ โดยอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจในเงื่อนไขโดยละเอียดก่อนทำสัญญา
การสร้างรายได้หลังเกษียณเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างรอบคอบ กลยุทธ์ในการสร้างรายได้หลังเกษียณเหล่านี้เป็นแนวทางการบริหารพอร์ตลงทุน และการบริหารจัดการทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นส่วนเสริมที่เป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม ที่จะช่วยให้ผู้เกษียณมีรายได้ สร้างความมั่นคงทางการเงินในช่วงวัยหลังเกษียณ สามารถมีคุณภาพชีวิตได้ตามที่ต้องการ