สำนักวิจัย CIMB Thai ห่วง อย่าให้สงครามค่าเงินเป็นคำตอบ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยนับเป็นประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่น่าติดตาม ระหว่างรัฐบาลที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจกับแบงก์ชาติที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ความขัดแย้งด้านทิศทางดอกเบี้ยมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงสัปดาห์การประชุมกนง. เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค และโดยเฉพาะหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวต่ำจากปีก่อนหน้า และหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งย้ำถึงแรงกดดันในการลดดอกเบี้ยในวันที่ 10 เมษายนนี้ มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หากหวังพึ่งพาดอกเบี้ยนโยบาย การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤติการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด
ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยเช่นนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง
“ผมมองว่า หนทางแก้เกมที่ดีที่สุด คือ ประสานนโยบายการเงินและการคลัง ตอนนี้เหมือนเรากำลังดูทีมฟุตบอลที่กองหน้าเขี่ยบอลให้กองหลังวิ่งขึ้นมาทำประตู อาจเพราะมีผู้เล่นบาดเจ็บ (งบประมาณยังไม่ออกจนเดือนพฤษภาคม) แต่กองหลังก็ไม่ขยับมาเล่นกองกลาง ยังเตะบอลให้กองหน้า เพราะห่วงรักษาประตู (เน้นดูแลเสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจ) คนดูก็เชียร์กันไปคนละข้าง เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะเดินหน้าได้ คงต้องหาทางแก้เกมกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อประสานผู้เล่นในทีมนี้” ดร. อมรเทพ กล่าว
▪️ ทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย
หากพิจารณาถ้อยแถลงและการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะพบหลากหลายปัจจัยที่บ่งบอกว่าทำไมยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตีความได้สามปัจจัยดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้มาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ปัญหาเชิงโครงสร้างมาจากการขาดความเชื่อมโยงของภาคการผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก การส่งออกขยายตัวต่ำแม้อุปสงค์ตลาดโลกกำลังฟื้นตัวได้ดี การขาดความสามารถในการแข่งขันหรือขาดสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐ ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศปรับลดลง แต่เป็นการบรรเทาปัญหาชั่วคราว และไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ น่าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตและการส่งออกมากกว่า
3. ผลข้างเคียงจากการลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป การลดดอกเบี้ยช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังแข็งแรง การบริโภคยังเติบโตได้ อาจส่งผลข้างเคียงให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นมารวดเร็วช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ Policy Space ไว้ใช้ยามจำเป็น
▪️ ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค
ต่อให้ลดดอกเบี้ยลง ก็ทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเหนือ 4% และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25 - 0.50% ก็ไม่ช่วยลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยะสำคัญ อาจพอลดความตึงเครียดได้บ้าง สร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้น
แต่การส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริงอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ต่างกับมาตรการทางการคลังที่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าคนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ทันที และสามารถดูแลผู้เดือดร้อนได้ตรงกลุ่ม มากกว่า
นโยบายการเงินที่หว่านแหในวงกว้าง และการลดดอกเบี้ยก็มีผลข้างเคียงที่เปรียบเหมือนยา อาจทำให้เกิดอาการหนี้ครัวเรือนที่เพิ่ม สินทรัพย์ไทยขาดความน่าสนใจจนต่างชาติเทขาย ทำเงินบาทอ่อนค่า กระทบสินค้านำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นได้
▪️ อย่าให้สงครามค่าเงินเป็นคำตอบ
“ผมกังวลว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเห็นว่าหนทางที่เร็วที่สุด (Quick Win) อาจจะเป็นการปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การลดดอกเบี้ยในระดับมากพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การลงทุน และทำให้บาทอ่อนค่าแรงพอจะสร้างความสามารถการแข่งขัน” ดร.อมรเทพ ระบุ
แต่ต้องระวังผลข้างเคียง ต้นทุนนำเข้าเพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน หรือกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพื่อการผลิตสูง เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือแพทย์ แต่ก็พอจะมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรอื่น ๆ ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และนิคมอุตสาหกรรม
“การลดดอกเบี้ยของไทย จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้านหรือไม่ และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง แม้ไม่ได้รุนแรงเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่หากเงินบาทวิ่งไปที่ระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ
“ผมมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและปราศจากมาตรการทางการคลังในการสนับสนุนเช่นนี้ คงต้องอาศัยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า แต่ก็หวังว่า แบงก์ชาติยังมีหนทางอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินอื่น ๆ มาเสริมได้อีก เช่น การลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ลดวงเงิน LTV และยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา
อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ก็ทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้มีความหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เหนือระดับ 2% แต่จะกระตุ้นให้ถึง 3% ได้หรือไม่ก็คงต้องรอดูมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาลอีกที” ดร.อมรเทพ กล่าว