KBANK คาดแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยเดือนเม.ย. หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง
นายวิทวัส เลิศบรรณพงษ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ระบุในงานสัมมนา “วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ทิศทางดอกเบี้ย และค่าเงิน” ว่ามีโอกาสไม่ถึง 50% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเม.ย.นี้
ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ได้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็อยู่ที่มุมมอง กนง. ว่าจะลดหรือไม่ หรืออาจรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/67 และประเมินผลก่อน แล้วจึงพิจารณาลดดอกเบี้ย
นายวิทวัส ระบุว่า การลดดอกเบี้ยขณะที่การบริโภคยังดีอยู่ อาจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนมั่นใจในการบริโภค ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่อยู่ในระดับ 92% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ลดดอกเบี้ย เงินบาทก็อ่อนค่า การส่งออกไม่เสียเปรียบประเทศคู่ค้า แต่หากครึ่งปีหลัง สหรัฐฯลดดอกเบี้ยตามคาด ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทกลับมาแข็งค่า
ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่า ก็มองว่าแบงก์ชาติอาจใช้นโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก เพื่อช่วยภาคส่งออก
ทั้งนี้คาดว่า เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ไม่ว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ภาคการส่งออกยังสามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังฟื้นตัวได้ แต่มีเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ในขณะที่ SME นั้นยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะดอกเบี้ยที่สูง และยังถูกจีนแย่งตลาด
▪️ ปัจจัยที่มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย
1. เศรษฐกิจไทยโตช้ามาจากปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาดอกเบี้ยสูงเกินไป อยู่ที่ภาคการผลิต และภาคการส่งออกของไทย ซึ่งไทยแข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้ เพราะต่างประเทศไม่ต้องการสินค้าไทย เช่น ฮาร์ดิสไดรฟ์ รวมถึงกรณีที่สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า และนำเข้ามาแข่งขันกับ SME ไทย ทำให้ไทยสู้ไม่ได้
2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากการบริโภคในไทยที่อ่อนแอ แต่มาจากมาตรการของรัฐบาลด้านราคาพลังงาน ที่ทำให้ราคาพลังงานปรับลง ซึ่งจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราวเท่านั้น
ด้าน น.ส.ซาร่า ผลพิบูลย์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าปีนี้ แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยทั้งหมด 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ระดับ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.5%
โดยคาดว่าครั้งแรกน่าจะลดในการประชุม กนง.เดือนมิ.ย. เนื่องจากถ้าลดเร็วกว่านั้น อาจไม่สมเหตุสมผล และมองว่า ธปท. อาจรอดู GDP ไตรมาส 1/67 ก่อน
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก มองว่า เป็นปีของการลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อชะลอลง และเงินเฟ้อเริ่มเข้าใกล้เป้าหมายของแต่ละธนาคารกลางแล้ว