08 เมษายน 2567
472
ทำไมธนาคารกลางญี่ปุ่น ขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 17 ปี !
ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ เพิ่งตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ โดยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 หรือในรอบ 17 ปี ทำให้ญี่ปุ่นสิ้นสุดยุคดอดเบี้ยติดลบ ที่ยาวนานถึง 8 ปี โดยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม -0.1% ขึ้นมาเป็นระดับ 0% - 0.1% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังจากระดับค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่ดีดตัวสูงขึ้น
.
การปรับขึ้นครั้งนี้หมายความว่า ไม่เหลือประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบดอกเบี้ยนโยบายติดลบ
.
นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบ หมายถึงสภาวะที่ผู้คนต่างจ่ายเงินให้กับธนาคารหากพวกเขานำเงินไปฝากไว้ นโยบายดังกล่าวถูกใช้ในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยแทนการฝากไว้กับธนาคาร
▪️ ทำไม BOJ ถึงขึ้นดอกเบี้ย ?
ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาอย่างยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ BOJ พยายามแก้ปัญหาเงินฝืด ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในแดนลบตั้งแต่ปี 2016 เพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมถูกลงและกระตุ้นการใช้จ่าย แต่การตัดสินใจครั้งล่าสุดทำให้อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้ง
.
BOJ ยังประกาศยกเลิกนโยบาย Yield Curve Control ที่มีไว้เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นกำลังลดมาตรการแทรกแซงตลาดเงิน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นโดย BOJ คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2%
.
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป หนึ่งในนั้นคือ การที่สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกราว 7 ล้านคน บรรลุข้อตกลงที่จะขึ้นค่าจ้างแรงงาน 5.3% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 และยังมากกว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ 2.2% กว่า 2 เท่า ดังนั้น แรงงานญี่ปุ่นจะมีเงินไว้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก
.
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหล่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นตกลงที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 5.28% ซึ่งนับเป็นการขึ้นเงินเดือนที่เยอะที่สุดในรอบกว่าสามทศวรรษ
.
ระดับค่าจ้างในญี่ปุ่นคงที่มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เนื่องจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างช้ามาก หรือบางครั้งก็ปรับลดลง
.
เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นของญี่ปุ่น Nikkei 225 ขึ้นไปแตะจุดสูงสุด ณ ตอนปิดตลาด เอาชนะสถิติเดิมเมื่อ 34 ปีที่แล้วได้
.
เมื่อปัญหาเงินฝืดเริ่มคลี่คลาย ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่โดดเด่นในทวีปเอเชีย การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
.
Morningstar Research (Thailand) รายงานผลตอบแทนกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงหุ้นประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนหุ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
.
3 ลำดับ กองทุนหุ้นญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด จากต้นปีถึง 19 มี.ค.67 ได้แก่
KFJPINDX -A +18.94%, TJPRMF +18.79%, TISCOJP 18.79%
3 ลำดับกองทุนหุ้นญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ในช่วง 3 ปี ได้แก่
ASP-NGF +23.80%, SCBNK2E 11.80%, K-JPX-A(A) 11.76%
.ที่มา : บลจ. สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
BBC