17 พฤษภาคม 2567
287

สงบศึกคลัง - แบงก์ชาติ ให้อิสระขึ้น - ลงดอกเบี้ย แต่ขอปรับเงื่อนไขดูแลสินเชื่อ SME

สงบศึกคลัง - แบงก์ชาติ ให้อิสระขึ้น - ลงดอกเบี้ย แต่ขอปรับเงื่อนไขดูแลสินเชื่อ SME

หลังเป็นประเด็นความไม่ลงรอยเป็นเวลาหลายเดือน ฝ่ายการเมืองกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างหนัก โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะเรื่องนโยบายของ ธปท. ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล สร้างความกังวลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ในความเป็นอิสระของธนาคารกลาง 

ล่าสุดนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการฯธปท. โดยใช้เวลาหารือราว 2 ชั่วโมง

🚩 ผลสรุปจากการประชุมเคลียร์ปมขัดแย้งระหว่าง กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย


1. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดโดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ เพื่อดำเนินนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกันไว้ 1 - 3% ส่วนปีนี้จะปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่นั้น ต้องคุยกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ

2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเห็นตรงกันเมื่อปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ตามที่ตกลงกันก็นำไปสู่การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันปัญหาของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่รัฐบาลมีความเป็นห่วง คือการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่า

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายเรื่องว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาหนี้จากช่วงโควิด ซึ่งยังมีเรื่องที่สามารถปรับปรุงหรือมีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น 

ส่วนจะมีการปรับเกณฑ์ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) หรือไม่นั้น เกณฑ์ดังกล่าวเป็นมาตรฐานระดับโลก ทำให้ภาคการเงินของไทยเข้มเข็ง 

โดยคลังมองว่าอาจต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในบ้างข้อและดึงส่วนนี้ออกมาใช้ เพื่อช่วยให้รายย่อยเข้าถึงเงินทุน ซึ่งใช้เงินเล็กน้อย เมื่อเทียบกับพอร์ตแต่ละแบงก์ที่มีประมาณ 4 ล้านล้านบาท 

“เชื่อว่าไม่กระทบเรื่องการปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ เชื่อว่าหลังจากคุยกันแล้ว จะมีการสร้างความยืดหยุ่นให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งผู้ว่าการ ธปท. เองเห็นด้วยกับปัญหาขาดสภาพคล่องของรายย่อย” นายพิชัย ระบุ 

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธปท.ต้องมีการทบทวน ซึ่ง ธปท.จะมีอิสระทางความคิด และเลือกทางออกมาดีที่สุด แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องมามองมากกว่านี้ คือ เรื่องหนี้เสีย สภาพคล่องที่คนไทยยังเข้าไม่ถึง และหนี้ภาคครัวเรือน เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินและแบงก์รัฐต้องร่วมกันแก้ไข 

หลังจากนี้ต้องกลับไปทำการบ้าน โดยอยู่ภายใต้โจทย์ต้องช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้เร็วที่สุด และสิ่งที่คลังและ ธปท. เห็นคล้ายกัน คือ ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

“การพูดคุยกันครั้งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะโดยส่วนตัวรู้จักกันดี เนื่องจากผมเคยเป็นกรรมการของแบงก์ชาติและยังเป็นกรรมการร่วมกันอีกหลายแห่ง เคยเจอกันบ้าง ผู้ว่าการฯ เป็นคนที่เก่ง เมื่อคุยกันแล้ว ต้องพร้อมใจที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หลังจากการหารือแล้วนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังจะต้องสอดประสานกันมากที่สุด” นายพิชัย กล่าว

ติดต่อโฆษณา!