20 พฤษภาคม 2567
224
สภาพัฒน์ฯ หั่น GDP ปี’67 เหลือ 2.5% ห่วงปัจจัยเสี่ยงภายนอกมีมากขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 67 ขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี ได้แรงส่งสำคัญมาจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้สูง
.
ส่วนการลงทุนภาครัฐยังหดตัว จากที่งบประมาณปี 67 ยังไม่ประกาศใช้ ขณะที่การส่งออกหดตัว 2% เนื่องจากเดือน มี.ค. เดือนเดียว การส่งออกหดตัวถึง 10%
.
ทั้งนี้ไทยยังเผชิญข้อจำกัดการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตอุตสาหกรรม โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก ตามการลดลดลงของมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้า 1.0% และ 2.3% จากการขยายตัว 4.6% และ 3.2% ในไตรมาสก่อน เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตไตรมาส 1/67 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเทียบไตรมาส 4/66 ที่ขยายตัวเพียง 1.1% เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถขยายตัวเป็นบวกขึ้นมาได้ นายดนุชา ระบุ
.
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 66 โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนการส่งออกทั้งปีคาดจะขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP
.
สศช.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 โดยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2 - 3% ต่อปี โดยมีค่ากลาง 2.5% ลดลงจากเดิมที่ประมาณการที่ 2.2 - 3.2% ต่อปี (ค่ากลางที่ 2.7% ต่อปี)
.
“การปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, และความผันผวนการเงินโลก” นายอนุชา ระบุ
.
แนะ 5 ด้าน บริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้
1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยเร่งรัดการเบิกงบประมาณประจำปี 67 ให้เบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 90% ของงบประมาณทั้งหมด
2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง
3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ การติดตามและวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด การเตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัวได้ เป็นต้น
4. การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการส่งออกที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตที่มีศักยภาพ รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง
5. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป จากการยกระดับความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก