กกร. ชี้สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทยกำลังแย่
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยผลการประชุมซึ่งตัวแทน 3 ฝ่ายสะท้อนปัจจัยลบที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย
กกร. ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 67 ว่าจะยังคงขยายตัวที่ระดับ 2.2-2.7% อัตราเงินเฟ้อ จะขยายตัว 0.5 - 1.0%
ปัจจัยที่จะต้องจับตา และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งทาง กกร.ได้มีมติว่าจะมีการทบทวนสมุดปกขาวที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง สำหรับสัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญในครึ่งปีหลังมีดังนี้
🚩 ค่าแรงแพง ธุรกิจขนาดเล็กต้านไม่ไหว
โดยที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนของภาคเอกชน จากนโยบายการปรับขึ้นของค่าแรงงานขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และต้นทุนด้านพลังงาน ตลอดจนปัญหาเรื่องของกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นขึ้นมา
ในช่วงครึ่งปีหลังการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ ลดลวอย่างเห็นได้ชัด กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง
🚩 ยอดขายรถยนต์ อสังหาฯ หดตัวต่อเนื่อง
โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4%
ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น และกำลังซื้อในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น อาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%
🚩 ต้นทุนพลังงานพุ่ง
ความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวน กกร.ขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง
🚩 ค่าระวางเรือพุ่ง 95% ดันต้นทุนส่งออก
การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นค่าระวางเรือ 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 67 ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นจากปัญหาทะเลแดงทำให้ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป
ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาพรวมการค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนมีผลภายในปีนี้ บโดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
🚩 โรงงานทยอยปิด ธุรกิจไม่คึกคัก
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในฐานะรองประธานที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ๆ ทุกคนบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ
ซึ่งจากการสำรวจเรื่องค่าแรงวันนี้ เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ขอการเมืองอย่ามากดดันภาคเอกชนทาง ส.อ.ท.ยังยืนยันจุดยืนเดิม
🚩 ค่าแรงขึ้น กระทบทวนแผนลงทุนเอกชน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่า
“ค่าแรงเป็นปัจจัยภายในที่เราคุมได้ เราไม่ควรจะมาปรับขึ้นทั่วประเทศในปีนี้เพราะมันจะเป็นครั้งที่ 3 จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะผู้ประกอบการมีการวางแผนงานประจำปีล่วงหน้าไว้ การปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะส่งผลกระทบกับแผนงานและต้นทุนของผู้ประกอบการ”