สินค้าจีนทะลัก วอนรัฐฯ เร่งแก้ปัญหา กระทบ SME ทยอยปิดกิจการ
จีนผลิตสินค้าล้นความต้องการในประเทศ หวังรักษาการจ้างงานและการเติบโตทางเศรฐกิจ โดนส่วนเกินได้ระบายปล่อยเข้าสู่ตลาดอาเซียน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยจากการที่จีนยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก
ทั้งนี้ จีนไม่ได้การลดการผลิตลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทย
“หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลง จนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง
หวังว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและเร่งให้ SMEs ไทยปรับตัวและแข่งขันได้” ดร.อมรเทพ ระบุ
CIMBT คงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2567 ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และให้แนวโน้มสำหรับปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2%
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำ รายได้ยังกระจุกในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาคการผลิตกลับหดตัวและน่าเป็นห่วง
ภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย เอกชนชะลอการลงทุนโดยเฉพาะภาคก่อสร้าง
การส่งออกยังฟื้นไม่ชัดเจน มีตัวแปรที่เสริมจากไตรมาสหนึ่งคือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวนับจากเดือนพฤษภาคม ซึ่งน่าพอพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปได้
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว
ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นวลานาน และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง
รอยเตอร์ ระบุว่า อินโดนีเซียประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ อาทิ รองเท้า เสื้อผ้า เซรามิก และเครื่องสำอาง ในอัตรา 100% ถึง 200% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามา
ด้านเวียดนามพยายามหาช่องทางส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดจีนเพื่อทดแทน